ฆาตกรฆ่าข่มขืน

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
       การที่คน ๆ หนึ่งจะลงมือฆ่าข่มขืนคนอื่นได้อย่างโหดเหี้ยม เขามีพื้นฐานชีวิต มีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร หรือเพียงแค่เป็นเพราะเสพยาบ้า และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
      ภายหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญกับ ด.ญ.วัย 13 ปี ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า การที่คน ๆ หนึ่งจะลงมือฆ่าข่มขืนคนอื่นได้อย่างโหดเหี้ยม เขามีพื้นฐานชีวิต มีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร หรือเพียงแค่เป็นเพราะเสพยาบ้า และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เท่านั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ปัจจัยที่มีการพูดถึงกันมาก คือ
1. ผู้ที่ก่อเหตุมีประสบการณ์ถูกกระทำมาก่อนหรือไม่ แล้วเรียนรู้จากผู้ถูกกระทำมาเป็นผู้กระทำคนอื่น เสียเอง คือ กรณีนี้ผู้ก่อเหตุอาจถูกกระทำ ถูกใช้ความรุนแรงมาก่อน พอถึงจุดหนึ่งอารมณ์ด้านชาจะไม่รู้สึกเห็นใจคนอื่น พอทำคนอื่นจะรู้สึกเฉย ๆ ว่าสิ่งที่ทำเจ็บปวดรุนแรง ในขณะที่คนอื่นรู้สึกว่าทำไปได้อย่างไร
2. สภาพชีวิตของผู้ก่อเหตุไม่มีอะไรเป็นเป้าหมาย หรือมีความหมาย ทำอะไรลงไปก็ไม่รู้สึกว่าจะมีผลอะไรกับตัวเอง ทำให้ไม่รับผิดชอบต่อพฤติกรรมและชีวิตของตัวเอง คือ ถ้าคนที่รู้สึกว่ามีเป้าหมายในชีวิต มีเป้าหมายในการทำงาน จะเลือกทำพฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง จะรู้ว่าทำอะไรลงไป และหยุดพฤติกรรมตัวเองหากคิดว่าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาจะเลือกทำเฉพาะพฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อชีวิต แต่กลุ่มคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิตเขาจะไม่รับรู้ คิดว่าชีวิตก็มีแค่นี้ ทำอะไรไปอีกก็ไม่มีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลงในความรู้สึกของเขา
และ 3. มีสิ่งกระตุ้นจากยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ซึ่งยาเสพติดและแอลกอฮอล์มีผลต่อสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าในเรื่องการควบคุมและการตัดสินใจ ถ้ามีการเสพยาเสพติดอย่างต่อเนื่องจะมีการทำลายสมองส่วนควบคุมทำให้การตัดสินใจแย่ลงไปอีก สำหรับคดีในประเทศไทยถ้าไปดูย้อนหลังมักจะเชื่อมโยงกับยาเสพติดค่อนข้างมาก
         ใน 2 กลุ่มแรกจะสังเกตค่อนข้างยาก ไม่เหมือนคนกินเหล้าเมา หรือเสพยาเสพติด คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ที่พบประวัติมักจะค่อนข้างเก็บตัวมีลักษณะเฉยเมย ซึ่งคงไม่สามารถไปตัดสินกรณีอื่น ๆ ได้ แต่ถ้าดูประวัติร่วมมักจะเห็นเสมอว่าเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร มีเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ เป็นคนไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
          ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ ทุกคนต้องระมัดระวังตัวเอง แต่ในหลายประเทศ บุคคลที่มีความเสี่ยงไม่ควรไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสสูญเสียการควบคุมตัวเอง ดังนั้นต้องมีระบบควบคุม เช่น การปล่อยให้ดื่มสุราในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งที่ไม่ควรอนุญาตให้ดื่มขณะปฏิบัติงานในที่สาธารณะ กรณีเช่นนี้เหมือนระบบการควบคุมดูแลไม่มี หรือในคนที่มีประวัติมาก่อน จะต้องมีประวัติในระบบ ถ้าจะต้องให้ทำงานเขาต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน
       กรมสุขภาพจิตจะต้องเข้าไปดูแลครอบครัวผู้สูญเสียหรือไม่? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ในขณะนี้ทางครอบครัวคงอยากใช้เวลาร่วมกันเป็นการส่วนตัว คงต้องให้ครอบครัว  มีโอกาสดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นกลไกที่มีความสำคัญมากที่จะผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปด้วยกัน แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน บางคนอาจจะมีความตึงเครียดไม่สบายใจอย่างมาก ดังนั้นอาจเป็นจังหวะที่เหมาะกว่าที่จะเข้าไปดูแล เพราะตอนนี้คิดว่าครอบครัวของผู้สูญเสียคงต้องการความสงบที่จะอยู่ด้วยกัน.

 

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
 


  View : 3.53K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,951
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,922
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 25,329
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,980
  Your IP : 3.137.184.33