รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
นาน ๆ ครั้ง เด็กกลั่นแกล้งเพื่อนอาจจะเป็นเรื่องปกติตามนิสัยที่ซุกซนไปตามเรื่องตามราว แต่เมื่อใดก็ตามที่มีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นนิสัย อาจเกิดปัญหาตามมาได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กที่ชอบกลั่นแกล้งเพื่อนภาษาอังกฤษเรียกว่า บุลลี่ เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ตั้งแต่ประถมไปจนถึงมัธยม
การกลั่นแกล้งมีทั้งการใช้คำพูด และการกระทำ ระดับความรุนแรงมีตั้งแต่ทำให้เพื่อนอับอายด้วยคำพูดบางอย่าง หรือรวมกลุ่มกันแล้วทำให้เพื่อนถูกผลักออกไป ทำให้เพื่อนอีกคนเป็นเหมือนตัวเหม็น น่ารังเกียจ
เด็กบางคนกลั่นแกล้งเพื่อนไม่ได้คิดอะไร เห็นเด็กอื่นแกล้งบ้างก็ทำตาม เด็กบางคนอยากสร้างความเป็นตัวตนของตัวเอง คิดว่าสิ่งที่ทำเจ๋งก็เลยกลั่นแกล้งเพื่อนแต่ไม่รู้ผลที่ตัวเองจะได้รับ หรือ ผลที่ตามมามีอะไรบ้าง แต่บางคนรู้ว่าทำแล้วมีผลกระทบแต่ก็ยังทำอยู่ เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่อยากถูกลงโทษ ก็ทำในสิ่งที่ตัวเองจะถูกลงโทษ กรณีนี้ต้องไปดูการเลี้ยงดู การเติบโต
เด็กที่กลั่นแกล้งเพื่อนต้องแก้ไขตั้งแต่เด็ก หากปล่อยให้กลั่นแกล้งจนชินจะติดเป็นนิสัย เด็กอาจเกิดความฮึกเหิมทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บางครั้งการกระทำอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย อย่างเด็กบางคนกลั่นแกล้งเพื่อนในที่สาธารณะแล้วไม่ถูกจับ เขาก็ทำต่อ ทั้ง ๆ ที่การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย
ที่น่าเป็นห่วงคือ ในตอนนี้เราเห็นเด็กมัธยมแกล้งกันในโซเชียลเน็ตเวิร์กเยอะมาก เป็นบุลลี่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น การปล่อยข่าวทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้เพื่อนเสียหาย กลายเป็นคนไม่ดี เป็นตัวตลก บางคนแอบนำภาพของเพื่อนมาตัดต่อในลักษณะที่ไม่เหมาะสมแล้วโพสต์ภาพ หรือโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสมออกไปสู่สาธารณะ
พฤติกรรมการกลั่นแกล้งคนอื่นต้องป้องปราม ตักเตือน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งกดดันจนไม่อยากไปโรงเรียน หรือฆ่าตัวตายเหมือนในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องปรามไม่ให้เด็กที่กลั่นแกล้งคนอื่นเกิดความคึกคะนองกลั่นแกล้งคนอื่นไปเรื่อย ๆ
การแก้ไขเด็กที่ชอบแกล้งเพื่อน อันดับแรกต้องมาหาเหตุปัจจัยต้นทาง เช่น ถ้าเป็นปัญหาจากการใช้ชีวิตในครอบครัวที่มีปัญหาต้องไปแก้ไขตรงนั้น ส่วนหนึ่งที่ต้องทำคือในชั้นเรียน เป็นการทำให้เด็กเปิดตัวเอง ให้เห็นว่าการกลั่นแกล้งเพื่อนนั้น ไม่ใช่มุมเล็ก ๆ ที่ไม่มีใครสนใจ แต่เป็นมุมที่ต้องพูดกันในชั้นเรียน ต้องไม่ทำให้เด็กที่กลั่นแกล้งเพื่อนรู้สึกเหมือนเป็นจำเลย เพียงแต่ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เด็กคนหนึ่งแกล้งเพื่อนนั้นเป็นที่รับรู้กันของเพื่อน ๆ ที่ลงความเห็นร่วมกันว่าไม่อยากให้เกิดแบบนี้อีก ทุกคนไม่ยอมรับ เพื่อให้เด็กมีบทเรียน และเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่น บางครั้งในชั้นเรียนอาจจะให้เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งได้พูดถึงความรู้สึกที่ถูกแกล้ง เพื่อให้เพื่อนที่กลั่นแกล้งได้เข้าใจความรู้สึก เพราะบางครั้งเพื่อนก็นึกสนุกโดยไม่คิดอะไร กรณีที่เป็นปัญหา ครูต้องเข้ามาดูแลโดยเฉพาะการไปโพสต์ข้อความต่าง ๆ ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งผิดกฎหมาย
สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องเฝ้าระวัง คือ อย่าทำให้เกิดบรรยากาศที่เด็กคู่กรณีไปแกล้งกันเองแล้วปล่อยให้ผ่านไป โดยไม่ได้ช่วยทั้งเด็กที่กลั่นแกล้งและเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง สำหรับคนที่ถูกกลั่นแกล้งต้องช่วยให้เขามีความมั่นคงขึ้น เพราะจะเป็นเกราะป้องกันการถูกแกล้ง ส่วนเด็กที่กลั่นแกล้งเพื่อนจะต้องมีการชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสม ในการเล่นกับเพื่อนรุนแรง
ถามว่าการกลั่นแกล้งกันในเด็กมีเยอะหรือไม่ ที่ผ่านมาเคยมีการใช้แบบสอบถามโดยใช้คำถามกลาง ๆ เพราะพฤติกรรมทางลบส่วนใหญ่เด็กจะไม่บอก เช่น ถามว่าเห็นมีการกลั่นแกล้งกันในห้องหรือไม่ และมีความถี่แค่ไหน จะพบตัวเลขเยอะพอสมควร สรุปว่า เด็กทุกคนเคยเห็นการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน
ท้ายนี้ต้องบอกว่า การกลั่นแกล้งคนอื่นจะมีผลตามมาเยอะมาก ทั้งคนที่โดนกลั่นแกล้ง และคนที่กลั่นแกล้ง ผลที่ตามมาเด็กบางคนอาจจะไม่คาดคิดว่า เพื่อนจะได้รับผลมากมายทางจิตใจ ส่วนตัวเด็กที่กลั่นแกล้งคนอื่นก็อาจจะมีความผิดทางกฎหมาย ดังนั้นต้องแก้ไขตั้งแต่เด็ก ๆ มิฉะนั้นจะกลายเป็นความเคยชิน.
นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน