ปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวช

โดยนำผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขังมาบำบัดรักษา และกลับไปอยู่ในชุมชนหลังอาการทุเลา แต่กาลเวลาผ่านไป พบว่ายังมีผู้ป่วยจิตเวชถูกล่ามขังอยู่ มีทั้งล่ามขังแบบชั่วคราว และล่ามขังตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข จึงได้ปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง และมอบภารกิจสำคัญนี้ให้กับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งงานนี้ต้องอาศัยพลังของพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ในการค้นหาผู้ป่วยเริ่ม 1 มี.ค. นี้

นพ.สุรวิทย์ บอกว่า สาเหตุที่ยังมีการล่ามขังผู้ป่วยจิตเวชอยู่ มี 4 องค์ประกอบ คือ 1. ผู้ป่วยมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของตนเอง และผู้อื่น 2. การดูแลรักษาที่ผ่านมา ไม่สามารถลดอาการของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถสร้างความมั่นใจแก่ญาติ และชุมชนได้ 3. ญาติ และชุมชนเป็นกังวล หวาดกลัว และอาจมีเจตคติทางลบต่อผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วย และ 4. ญาติและชุมชนไม่สามารถใช้ทางเลือกอื่นหรือไม่ทราบทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการล่ามขังเพื่อควบคุมผู้ป่วย ทั้งนี้การปล่อยให้ผู้ป่วยที่ถูกล่ามขัง ไม่ให้ได้รับการรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฝึกทักษะต่าง ๆ ย่อมก่อให้เกิดความเสื่อมของบุคลิก   ภาพ ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมถดถอย จนกระทั่งอาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตได้ตามปกติ นอกจากนี้จะยิ่งทำให้สภาพจิตที่ย่ำแย่เลวร้ายลงไปอีก ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่เป็นการสร้างภาระ ทั้งต่อครอบครัว และชุมชนมากขึ้นไปอีก

ด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.     พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ได้เริ่มดำเนินการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชมาตั้งแต่ปี 2543-2544 ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชน มีอาชีพ รายได้ แต่เวลาผ่านไปมีผู้ป่วยถูกล่ามขังรายใหม่เกิดขึ้นอีก โดยเมื่อปี 2553 ได้ดำเนินการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยกลุ่มนี้อีกครั้ง ปรากฏว่ามีผู้ป่วยอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น จ.อุบล ราชธานี ยโสธร ศรี สะเกษ และอำนาจเจริญ ประมาณ 21 ราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภท ซึ่งโรคนี้เกิดจากพันธุกรรมส่วนหนึ่ง ความเครียดจากภาวะจิตใจส่วนหนึ่ง และภาวะสังคมบีบคั้นส่วนหนึ่ง แต่สุดท้ายเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ทำให้หูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด

ผู้ป่วยที่เราไปเจอ 21 รายมีทั้งโดนล่ามโซ่ บางคนญาติสร้างบ้านเป็นกระท่อมหลังเล็ก ๆ ให้อยู่ต่างหาก ไม่ให้สุงสิงกับครอบครัว แต่ผู้ป่วยบางรายก็ยินดีแยกตัวออกไปอยู่ต่างหาก ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร ผู้ป่วยกลุ่มนี้ล้วนเคยได้รับการรักษาจากจิตแพทย์มาแล้ว แต่มีปัญหาอีกเนื่องจากกินยาไม่ต่อเนื่อง ญาติมีภาระต้องทำมาหากินทำให้ไม่มีเวลาดูแล ส่วนหนึ่งคือผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองป่วย

ตอนเข้าไปหาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทางญาติ และผู้ป่วยยินดีต้อนรับเราอยู่แล้ว เนื่องจากก่อนที่ทาง รพ.จะเข้าไปทาง อสม. หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้เข้าไปพูดคุยก่อนแล้ว จึงไม่ได้รับการต่อต้าน แต่กลับได้รับการต้อนรับอย่างดี

เมื่อทีมของ รพ.ลงไปอย่างแรกคือจะต้องลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด จึงได้พาผู้ป่วยทั้ง 21 รายกลับมารักษาตัวที่ รพ.  เป็นผู้ป่วยในทั้งหมด ผู้ป่วยรายหนึ่งใช้เวลารักษาประมาณ 1 เดือน ทั้งกินยา ฉีดยา โดยหลักผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้จะต้องใช้ยาฉีดที่ออกฤทธิ์นานฉีด 1 เข็มอยู่ได้เป็นเดือน เหมือนยาคุมกำเนิด ตอนนี้ยาที่ใช้ในการรักษาค่อนข้างดี และมีประสิทธิภาพ

สำหรับการรักษาไม่ใช่ว่าอาการดีแล้ว รพ.ส่งกลับไปชุมชนเลย ในระหว่างที่คนไข้อยู่ใน รพ.เราจะต้องไปทำความเข้าใจกับญาติ หรือชุมชนว่าผู้ป่วยไม่ได้หมดหนทางรักษา ขณะเดียวกันก็เอาคนไข้ที่อาการดีขึ้นกลับไปเยี่ยมบ้านสัก 2-3 วันแล้วไปรับตัวกลับมาเพื่อให้เห็นว่าคนไข้อาการดีขึ้น ไม่อาละวาดแล้ว จนกระทั่งญาติและชุมชนเชื่อมั่นจึงจะส่งกลับคืนบ้าน หลังจากนั้นก็จะตามไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับญาติเป็นระยะ ๆ บางครั้ง รพ.อาจนำยาไปฉีดให้ที่บ้าน

โอกาสหายกี่เปอร์เซ็นต์ ? นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า จากการทบทวนการวิจัย และประสบการณ์ของเรา 60-70% อาการทุเลา อาการอันตรายจะหายไป แต่อาการที่อาจหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น หลงผิด หวาดระแวง หรือความเสื่อมทางด้านร่างกายโดยเฉพาะสมองยังมีอยู่

“ปลดโซ่ตรวจมันปลดง่ายแต่ที่ยาก คือ ทำอย่างไรที่จะให้ปลดอย่างต่อเนื่อง วิธีการของเราที่ใช้อยู่ คือ ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาว่ารายนี้จะสร้างอาชีพอะไรให้กับเขา บางคนก็ไปอยู่วัด ไปช่วยงานพระ แต่บางคนก็สามารถทำไร่ไถนาได้ คืออาชีพนั้นจะต้องเหมาะกับชุมชนด้วย”

สำหรับกลุ่มคนเร่ร่อนที่มีปัญหาสุขภาพจิตนั้น ทาง รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ก็รับมาดูแลเช่นกัน โดยหลายรายต้องอยู่ใน รพ.ตลอด ที่ดูแลอยู่ในตอนนี้มีเกือบ 90 ราย เนื่องจากผู้ป่วยบางคนจำบ้านตัวเองไม่ได้ บางคนไม่ได้เป็นคนไทย แต่เป็นคนต่างด้าว เช่น คนลาว บางคนสมองเสื่อม จำอะไรไม่ได้เลย และอีกกลุ่มคือญาติตั้งใจทิ้ง ส่งตัวมารักษาที่ รพ.แล้วก็ย้ายบ้านหนี หาบ้านไม่เจอ แต่ก็มีหลายรายเหมือนกันที่รักษาอาการดีแล้วพากลับบ้านแต่ทางบ้านไม่ยอมรับ เนื่องจากคนไข้มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทุบตีญาติทำให้ญาติกลัว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ทาง รพ.ต้องแบกรับภาระทั้งหมด ปีที่แล้วทาง รพ.ต้องใช้เงินหลายล้านบาทในการดูแล

 


  View : 7.44K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 516
 เมื่อวาน 1,300
 สัปดาห์นี้ 5,926
 สัปดาห์ก่อน 7,656
 เดือนนี้ 18,814
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 900,492
  Your IP : 40.77.167.13