ผลิตและเผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2556 กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (ส.ส.ค.) และ สถาบันราชานุกูล เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบการจัดการเชิงพื้นที่ในการเชื่อมต่อข้อมูลและการให้บริการเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและเชาวน์ปัญญาเด็กไทย เพื่อให้เกิดการส่งต่อข้อมูลและระบบการดูแลเด็กเล็ก 0-5 ปีซึ่งเป็นยุคทองของการพัฒนาการเรียนรู้ โดย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข , ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน และ ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพราะการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก 0-5 ปี อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างรากฐานทั้งในด้านความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และพัฒนาการของร่างกาย
เพราะสมองจะมีการสร้างใยประสาทมากที่สุดในช่วงอายุ 2 ปีแรก จนกระทั่ง 6 ปี สมองจะพัฒนาได้เกือบร้อยละ 60-70 ของสมองผู้ใหญ่ ส่งผลให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น การพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิด 5 ปี นับเป็นเวลาทองของการพัฒนาสมอง รวมถึงการสร้างบุคลิกภาพและฝึกฝนทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิต
ภายใต้กลไกแห่งการขับเคลื่อนโดยการส่งต่อข้อมูลและการให้บริการเด็กตั้งแต่แรกเกิดจากหน่วยงานสาธารณสุขไปสู่ภาคการศึกษาทั้งศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่นำร่องใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอพญาเม็งรายและอำเภอเวียงชัย) , จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อำเภอท่าเรือและอำเภออุทัย) , จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอท่าตูมและปราสาท) , จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกระทู้) เพื่อให้เกิดกระบวนการดูแลเด็กที่มีประสิทธิภาพบนฐานข้อมูลรายบุคคล เด็กจะได้รับการส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูพัฒนาการในช่วงวัยทองของชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต