รวมรวบข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
การที่เด็กพูดช้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พันธุกรรมจากครอบครัว มีญาติในตระกูลพูดช้า การได้ยินบกพร่อง รวมทั้งสมองทำงานผิดปกติ
โดยปกติแล้ว เมื่อเด็กได้ยินเสียง ได้ยินคนพูดกัน เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับ เข้าใจ พูดตามได้โดยอัตโนมัติ เด็กที่มีการได้ยินบกพร่องประเภทหูหนวกรุนแรงทั้งสองข้างจะสังเกตได้ง่ายว่ามีความผิดปกติ และประเภทหูไม่ได้หนวกสนิท การได้ยินบกพร่องเพียงบางส่วน เด็กยังอาจมีพัฒนาการทางภาษาได้อยู่บ้าง แต่ล่าช้ากว่าวัย เด็กบางคนพูดได้แต่ไม่ชัดเจน
เด็กที่มีการได้ยินบกพร่องเพียงข้างเดียวนั้นจะไม่มีผลต่อพัฒนาการทางภาษา ส่วนสาเหตุจากการที่สมองทำงานผิดปกตินั้น มีผลงานวิจัยกล่าวว่า สมองที่กำลังพัฒนาของเด็กมีส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษา หากบางส่วนทำงานหรือพัฒนาไม่ดีนัก จะมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก
เด็กบางคนอาจคลอดก่อนกำหนด บางคนขาดออกซิเจนหรือมีโรคทางสมองอื่น ๆ ทำให้สมองทำงานผิดปกติ พัฒนาไม่ดี ทั้งนี้ ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า เด็กพูดช้า พัฒนาการล่าช้าในช่วงปฐมวัย 5-6 ปีแรกของชีวิต จะพบได้ราวร้อยละ 5-15 ส่วนในประเทศไทยพบได้ราวร้อยละ 20 ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ในสังคมที่กำลังพัฒนา มักมีเวลาน้อยในการพูดคุยกับเด็ก ทำให้พบปัญหาเด็กพูดช้าได้มากกว่าสังคมที่พัฒนาแล้ว วิธีสังเกตเมื่อเห็นว่าลูกพูดช้าผิดปกติคือ เด็กยังไม่พูดในขณะที่ถึงวัยควรพูดได้ หรือมีการพัฒนาการทางภาษาน้อยกว่าคนอื่นในวัยเดียวกัน เด็กปกติทั่วไปเริ่มพูดคำแรกประมาณ 1 ขวบ
เด็กปกติบางคนอาจเริ่มพูดค่อนข้างช้าเมื่ออายุประมาณ 1 ขวบกว่า จนถึง 2 ขวบ ผลการศึกษาวิจัยยังได้ระบุว่า ถ้าเด็กอายุขวบครึ่งแล้วยังไม่พูด ควรเริ่มสังเกตอย่างใกล้ชิดว่า เด็กเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดด้วยหรือไม่ หากมีความเข้าใจน้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ก็ไม่ควรรอจนกระทั่งถึง 2 ขวบ หรือถ้ายังไม่พูดร่วมกับไม่มีภาษาท่าทางช่วยสื่อสารบอกความต้องการ เช่น การมองหน้าสบตา ใช้การชี้บอกแทนคำพูด อาจสงสัยว่ามีลักษณะเบี่ยงเบนในกลุ่มออทิสติก แต่ถ้าเด็กพูดช้าอย่างเดียว ความเข้าใจภาษาดีเหมือนเด็กวัยเดียวกันและไม่มีความบกพร่องของภาษาท่าทาง ภาษาชาวบ้านเรียกอาการนี้ว่า ปากหนัก ซึ่งส่วนมากจะไม่มีความผิดปกติรุนแรง และมักพูดได้เป็นปกติในที่สุด สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พ่อแม่มักพาเด็กพูดช้ามาปรึกษาแพทย์เมื่ออายุ 2-4 ขวบไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าน่าจะรอได้เดี๋ยว เด็กคงพูดได้เอง ซึ่งทำให้เด็กขาดโอกาสในการได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต
เด็กหลายคนแม้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่อาจยังคงมีภาษาที่ล่าช้ากว่าเพื่อนจนกระทั่งเริ่มวัยเรียน ดังนั้น หากสงสัยว่า เด็กมีการได้ยินผิดปกติหรือออทิสติกควรปรึกษาแพทย์ทันที สำหรับแนวทางการรักษา ในทางการแพทย์เริ่มต้นจากการหาสาเหตุว่าเด็กมีความผิดปกติทางการได้ยินหรือไม่ ซึ่งเรื่องการได้ยินเป็นเรื่องที่ต้องตรวจหาสาเหตุอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันก็มีความสำคัญ เพราะเด็กจำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับคนเลี้ยงดู มีการพูดคุยโต้ตอบ เล่นด้วยกัน ถ้าการเลี้ยงดูส่วนมากไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ทำให้เด็กพูดช้าหรือพูดได้ไม่เหมาะสมกับวัย
เรื่องโดย รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์