พิษตะกั่ว รอบตัวเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

           ทุกวันนี้พิษภัยของ "สารตะกั่ว" ที่ปะปนอยู่ในสิ่งของต่างๆ รอบตัวนั้นยังคงเป็นสิ่งที่เราต้องระแวดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ "เด็กเล็ก" ที่สามารถดูดซับพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ และเมื่อสะสมมากเข้าก็จะส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมอง รวมทั้งระบบภูมิต้านทาน ด้วยเหตุนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องออกมากระตุ้นเตือนให้ระวังภัยจากสารตะกั่วกันเป็นระยะ
          เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับกรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาย้ำเตือนสังคมให้ตระหนักถึงการป้องกันเด็กไทยให้ห่างไกลจากพิษสารตะกั่ว ผ่านกิจกรรม "รวมพลังปกป้องเด็กไทย ห่างไกลพิษสารตะกั่ว" ภายใต้ "โครงการรณรงค์ป้องกันภัยอาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว"
          นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ปัจจุบันนี้องค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา และสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกาได้ปรับลดค่าระดับสารตะกั่วในเลือดที่ยอมรับได้สำหรับเด็ก จากที่ต้องมีค่าน้อยกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ลงเหลือ 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร

          "ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปีนั้น ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่จะได้รับผลกระทบจากพิษของสารตะกั่วเพราะเด็กเล็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่ดูดซึมเพียงแค่ 10-15 เปอร์เซ็นต์"
          อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าเด็กไทยในบางพื้นที่ยังมีความเสี่ยงต่อพิษของสารตะกั่ว ดังนั้นในงานเวชปฏิบัติจึงควรมีการเฝ้าระวังการสัมผัสสารตะกั่วในเด็กโดยการสอบถามจากประวัติ และพิจารณาตรวจเลือดเด็กในรายที่สงสัยว่าอาจจะมีการสัมผัสตะกั่ว
เขาบอกว่าพิษจากตะกั่วจะส่งผลเสียชัดเจนต่อร่างกายและระดับสติปัญญาของเด็กที่ได้รับสารพิษ โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาจะไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ และทำให้ระดับสติปัญญาต่ำลง หรือไอคิวต่ำ เรียนรู้ช้า ซน สมาธิสั้น
          "เด็กจะสูญเสียไอคิว 1.5 จุดทุกๆ การเพิ่มขึ้นของระดับตะกั่วในเลือด 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ถ้าได้รับในปริมาณสูงจะมีผลต่อสมอง ตับ และไต นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสสารตะกั่วก็มีความเสี่ยงสูงที่จะแท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือลูกมีน้ำหนักตัวน้อย"
          ดังนั้นสถาบันสุขภาพเด็กฯ จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เร่งสร้างเครือข่ายการทำงานเป็นทีมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการดูแลสุขภาพเด็กไทยให้ห่างไกลจากพิษสารตะกั่ว โดยหนึ่งในมาตรการเชิงรุกคือ "การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็ก"
          สำหรับข้อแนะนำในการดูแลเด็กให้ห่างไกลพิษสารตะกั่วเบื้องต้น คือ ควรเลือกใช้สีน้ำทาภายในตัวบ้านแทนการใช้สีน้ำมัน สีที่ใช้ควรมีปริมาณตะกั่วไม่เกิน 90-100 ppm และควรดูแลเด็กไม่ให้เล่นเครื่องเล่น หรือของเล่นที่สีหลุดร่อน
          นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เผยว่า สิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่ คือ ตะกั่วในสีทาบ้านหรืออาคาร สีทาโลหะ ตู้ไม้ ที่มีลักษณะวาวๆ จะมีตะกั่วผสมอยู่ ซึ่งที่ตรวจมามีระดับตะกั่วเกินมาตรฐาน
          "ขณะนี้กำลังขับเคลื่อน และมีการทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พยายามที่จะผลักดันให้มีการลด ละ เลิก การปนเปื้อนตะกั่วที่อยู่ในสีทาบ้าน ซึ่งเสนอมานานแล้วแต่ก็ยังไม่มีการยกเลิกสักที"
    เขาบอกว่า อาจจะต้องมีการทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะเป็นนโยบายระดับชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบของประชาชนทุกคน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะในเรื่องการดูแลความสะอาดร่างกาย ตลอดจนการดูแลเด็กให้ได้รับสารอาหารครบทุกหมวดหมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว ผลไม้ นมสด ปลาเล็กปลาน้อย เนื้อแดง เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารตะกั่วได้น้อยลง
          ส่วนการเฝ้าระวังทางสุขภาพจะมีการไปตรวจเลือดในกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น ทำงานในโรงงาน อู่ต่อเรือ พร้อมทั้งเพิ่มการซักประวัติของแม่และลูกที่มีโอกาสเสี่ยง เช่น สอบถามเรื่องอาชีพเสี่ยงของคนในครอบครัว และตรวจเด็กว่ามีพัฒนาการเป็นอย่างไร
          ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน เช่น ของเล่นกลางแจ้ง ของเล่นที่อยู่ในร่ม ต้องเข้าไปควบคุมดูแลให้ใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งให้ความรู้ครูพี่เลี้ยงในการระมัดระวังเครื่องใช้ต่างๆ ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก
 
 
          ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


  View : 7.10K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,025
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 4,085
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 24,001
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 905,679
  Your IP : 182.52.46.58