รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
"พญ.พรรณพิมล" จิตแพทย์ชี้แนะทางออกแก้ปัญหาเด็กออทิสติกอยู่ร่วมกับเด็กทั่วไป หลังพบว่าสื่อสารไม่เข้าใจจนเกิดปัญหา ย้ำ "ครูประจำชั้น หรือครูผู้สอน" มีความสำคัญต้องคอยสอดส่องดูแล ระบุตาม พ.ร.บ.การศึกษาพิเศษ ร.ร.เรียนร่วมที่มีการสอนกลุ่มเด็กพิเศษเกิน 4 คนต้องมี "ครูพิเศษ" ดูแล
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการอยู่ร่วมกับเด็กออทิสติกในโรงเรียนเรียนร่วมเด็กทั่วไป ว่าปัจจุบันจะมีระบบการประเมินระหว่างแพทย์และครูในโรงเรียนสอนร่วมว่า เด็กออทิสติกสามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้หรือไม่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ปัญหาคือ เด็กนักเรียนด้วยกันอาจไม่เข้าใจ เนื่องจากเด็กออทิสติกมีการเจริญเติบโตไปตามวัย แต่พฤติกรรมการเรียนรู้ทางสังคม อาจไม่สอดคล้องกับวัยที่เติบโต ทำให้เพื่อนนักเรียนในวัยเดียวกันไม่เข้าใจ และเกิดปัญหาทะเลาะบ้าง ไม่อยากคุยด้วยบ้าง ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัญหาในการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งเด็กออทิสติกและเด็กนักเรียนอื่น ๆ เนื่องจากหากเด็กออทิสติกมาเล่นกับเพื่อน แต่เล่นแรง เพื่อนก็ไม่อยากเล่นด้วย ซึ่งจะเป็นปัญหา ขณะเดียวกันเพื่อนเมื่อเล่นแรงกลับก็อาจถูกพ่อแม่ของเด็กออทิสติกมาต่อว่า ซึงก็เป็นปัญหาทั้งสองฝ่ายเช่นกัน
"สิ่งสำคัญอยู่ที่ครูประจำชั้น ครูผู้สอน ต้องคอยสอดส่องดูแล ซึ่งปกติโรงเรียนกลุ่มเรียนร่วมจะมีครูพิเศษหรือครูแนะแนวที่ผ่านการอบรมมาเฉพาะในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับตามกฎหมายของ พ.ร.บ.การศึกษาพิเศษฯ ระบุว่าโรงเรียนเรียนร่วมที่มีการเรียนการสอนเด็กกลุ่มพิเศษหรือเด็กออทิสติกเกิน 4 คนขึ้นไปจะต้องมีครูพิเศษคอยดูแล ซึ่งตรงนี้สำคัญ เพราะเมื่อเด็ก ๆ มีปัญหาครูต้องทำหน้าที่ในการประสานและทำอย่างไรก็ได้ ให้เด็กนักเรียนทั่วไปเข้าใจเพื่อนของเขาว่า แม้ร่างกายจะเติบโตแต่การเรียนรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ค่อนข้างยาก ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กทั้งสองกลุ่ม ก็ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย" พญ.พรรณพิมล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาของเด็กออทิสติกคือการเรียนรู้เรื่องเพศที่ไม่เข้าใจและเกิดปัญหากับเด็กทั่วไป พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า อยู่ที่การสอนของครูและพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะอย่าลืมว่า ร่างกายของเขาเติบโตขึ้น แต่ยังขาดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญพ่อแม่และครูต้องเข้าใจจุดนี้ และสอนอย่างถูกวิธีซึ่งจริง ๆ ครูที่ผ่านการอบรมมาจะเข้าใจและรู้วิธีในการแก้ปัญหาของการสื่อสารและการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้ ขณะที่พ่อแม่เด็กต้องใจเย็น ๆ และต้องรู้วิธีสอน ซึ่งสำคัญมากเนื่องจากพ่อแม่ไม่รู้หรอกว่าเมื่อลูกไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมภายในบ้าน อยู่ข้างนอกจะเจออะไร หรือลูกจะมีพฤติกรรมอะไร ดังนั้นต้องรับฟังทั้งหมด และหาทางแก้ปัญหากับครูที่ทางโรงเรียนจัดหาไว้
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า ส่วนเด็กนักเรียนทั่วไปขอให้เข้าใจเพื่อนที่เป็นเด็กพิเศษด้วย เนื่องจากเขาไม่ได้ผิด แต่เขาเรียนรู้ไม่ถูกวิธี หากเรารู้สึกว่าเขาเล่นแรง หรือทำอะไรที่เราไม่พอใจ ให้ใจเย็น ๆ โดยเฉพาะเพื่อนผู้ชายอย่าใจร้อนไปทำร้ายร่างกาย ให้รีบไปบอกครูแนะแนว หรือครูผู้สอน และควรให้โอกาสเขา หากเขาสามารถปรับตัวได้ แต่สำหรับเด็กผู้หญิงที่รู้สึกไม่ชอบ เพราะบางครั้งมีการเล่น หรือพูดเรื่องเพศไม่เหมาะสมให้หลีกเลี่ยงการพูดคุย หรือไปบอกครูเช่นกัน