ครอบครัว ด่านสำคัญยับยั้งความรุนแรง

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
         กรมสุขภาพจิต แนะการให้การช่วยเหลือทางจิตสังคมในเด็กที่ถูกทารุณกรรมและการป้องกันการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
         นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง กรณีข่าวการฆ่ายกครัว พ่อ แม่ และพี่ หรือน้อง ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียวถึง 2 กรณี โดยผู้เป็นลูกลงมือกระทำด้วยตนเองและจ้างวานให้ผู้อื่นกระทำว่าทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างความสะเทือนขวัญและถูกพูดถึงอย่างกว้างขว้างในสังคมไทย โดยเฉพาะกับคำถามที่ตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับสถาบันครอบครัว ทำไมลูกฆ่าได้แม้กระทั่งผู้ให้กำเนิด
        ซึ่งกรณีลักษณะเช่นนี้ สังคมไทยยังขาดความเข้าใจและพยายามหาคำตอบกันอยู่ แม้แต่ในด้านวิชาการก็ยังมีข้อมูลและความเข้าใจต่อเรื่องนี้อยู่อย่างจำกัด ซึ่งหากมีการทำความเข้าใจปัจจัยในเชิงลึกได้มากเท่าไรย่อมจะเป็นผลดีต่อการหาแนวทางในการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างตรงจุด ไม่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งนี้ ในต่างประเทศได้มีข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าบุพการีหรือบิดามารดาว่า ผู้กระทำมักมีอาการทางจิตเวช ที่พบบ่อย ได้แก่ ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว เกเรต่อต้าน และอาจพบการใช้สารเสพติดร่วมด้วยได้
        อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ข้อมูลกรณีการฆ่าบุพการีจากต่างประเทศ ยังระบุอีกด้วยว่า ร้อยละ 81 เป็นการฆ่าผู้เป็นพ่อ และร้อยละ 76 เป็นการฆ่าผู้เป็นแม่ อาวุธที่ใช้ ส่วนใหญ่เป็นปืน ถึงร้อยละ 57-80 และเมื่อพิจารณาตามอายุ จะพบว่า ผู้กระทำหรือบุคคลที่อายุมากกว่า 18 ปี มูลเหตุจูงใจในการกระทำจะสัมพันธ์กับอาการทางจิต ขณะที่ บุคคลอายุน้อยกว่า 18 ปี มูลเหตุจูงใจในการกระทำจะสัมพันธ์กับการถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก สำหรับในประเทศไทย จะมีข้อมูลลักษณะนี้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในบุคคลที่อายุน้อยกว่า 18 ปี แต่สำหรับบุคคลที่อายุมากกว่า 18 ปี จะพบว่า การฆ่าบิดามารดา มีความสัมพันธ์กับอาการทางจิต  ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งมาประเมินสภาพจิตเนื่องจากไม่มีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีความผิดปกติทางจิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14
        สำหรับสาเหตุที่เกิดขึ้น  อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า มาจากหลายตัวแปร ได้แก่ ขาดการควบคุมแรงผลักดันภายใน การไม่ค่อยประสบความสำเร็จในชีวิต บิดามารดามีความผิดปกติทางจิต หรือมีประวัติเคยถูกทารุณกรรมมาก่อน รวมทั้ง ความผูกพันที่ไม่ดีกับบิดามารดา การมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ตลอดจนมีความผิดปกติทางระบบประสาทและสมอง ซึ่งตัวแปรเหล่านี้เป็นตัวกำหนดความเปราะบางในบุคคลที่จะส่งผลให้เกิดการฆ่าบุพการีขึ้นได้
       อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีผู้เชี่ยวชาญพยายามตั้งทฤษฎีเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับและสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดี คือ ทฤษฎีที่อธิบาย ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการสะสมความรู้สึกว่าตนเองถูกเยาะเย้ยหรือน่าละอาย ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกทารุณกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองนั้นไม่เป็นที่ต้องการ ไม่ได้รับความยุติธรรม และ เมื่อเกิดการทารุณกรรมซ้ำๆ ก็จะยิ่งไปตอกย้ำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ซ้ำๆ ทำให้รู้สึกตึงเครียดเกิดเป็นปมฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจ เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น ปมที่ฝังแน่นเหล่านี้ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปลดปล่อยตนเองจากสภาวะที่ถูกทารุณกรรม โดยการตัดสินใจที่จะสู้หรือจะหนี (Fight or Flight) ทางหนี คือ การฆ่าตัวตาย (Flight)  ขณะที่ ทางสู้ คือ การทำร้ายผู้ที่กระทำทารุณกรรม (Fight)ดังนั้น การฆ่าบุพการีจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยปลดปล่อยตนเองจากความรู้สึกไม่สบาย ความต้องการแก้แค้น ความก้าวร้าว และการไม่ได้รับความยุติธรรม
       การให้การช่วยเหลือทางจิตสังคมในเด็กที่ถูกทารุณกรรมและการป้องกันการใช้ความรุนแรงในครอบครัวจึงมีความสำคัญยิ่ง และเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อแนะนำ ดังนี้
       1. ครอบครัวควรสร้างความรักความผูกพันกันให้มากขึ้น โดยการทำใจและยอมรับความแตกต่างรวมทั้งข้อจำกัดของกันและกัน มองหาจุดดีและรู้จักชื่นชมกัน รวมทั้ง ใช้เวลาพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากพ่อแม่แล้ว ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะให้ความรักความอบอุ่นและเป็นที่พึ่งทางใจให้เด็กๆ ได้สามารถพูดคุยเรื่องที่ไม่สบายใจให้ฟังได้
       2. ครอบครัวต้องไม่ใช้ความรุนแรง เพราะจะยิ่งกลายเป็นวงจรความรุนแรงต่อเนื่องในรุ่นต่อๆไป พ่อแม่จึงควรเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม  มีความยืดหยุ่น และค่อยเป็นค่อยไป
       3.  พ่อแม่ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี หรือ เป็น ซูเปอร์โมเดล (Super model) ให้กับลูก โดยเฉพาะ เรื่องของความดีงาม ความยับยั้งชั่งใจ เพราะนิสัยส่วนหนึ่งของลูกย่อมเกิดจากการเลียนแบบพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว เด็กๆ ก็เหมือนกระจกสะท้อน หากเราต้องการให้ภาพที่สะท้อนในกระจกนั้นสวยงาม เราเองก็ต้องเป็นภาพที่สวยที่สุดให้ได้เสียก่อน
       4. ครอบครัวควรมีการสื่อสารกันอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการกำหนดกฎเกณฑ์ การตำหนิติเตียนหรือการกล่าวโทษกัน ที่ควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์ มีความเป็นธรรม ปฏิบัติกับลูกทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เปรียบเทียบระหว่างพี่น้องหรือกับบุคคลอื่น เน้นเรื่องที่ควรปรับปรุงแก้ไขและสามารถแก้ไขได้จริง พึงระลึกเสมอว่า การกล่าวโทษกันอย่างมีอคติจะนำไปสู่การทารุณทางจิตใจอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความเก็บกดและเกิดปมด้อยในจิตใจ
       5. พ่อแม่ต้องรู้จักการจัดการความเครียดของตนเอง เนื่องจากยุคสมัยนี้พ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือกับปัญหาภายในและภายนอกบ้านที่ทั้งเครียดและกดดัน พ่อแม่จึงควรมีวิธีในการจัดการกับความเครียดของตนเองให้ได้ ซึ่งอาจมีการทบทวนการกระทำต่างๆ บ้าง และที่สำคัญ ต้องไม่ละเลยที่จะรับฟังความคิดเห็นของลูก
       นอกจากนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะถึงวิธีสังเกตพฤติกรรมลูกๆ ว่าเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยให้สังเกตจากพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เช่น มีความก้าวร้าวรุนแรง แยกตัว ไม่พูดไม่จา มีท่าทางโกรธเคือง ติดยาเสพติด หรือคบเพื่อนที่ติดยา ซึ่งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว และที่สำคัญ ในครอบครัวไม่ควรมีหรือสะสมอาวุธที่วัยรุ่นสามารถหยิบใช้ได้สะดวก  
      ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ได้ที่ สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
 

ที่มา : ศูนย์สื่อสารสังคม สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 


  View : 1.58K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.137.218.230