วัยชราอยู่เฉย เร่งเกิด“สมองเสื่อม”

“กรมสุขภาพจิต” เผยผู้สูงอายุป่วย “โรคสมองเสื่อม” มากถึง 800,000 คน ชี้ความหวังดีของลูกหลานให้ผู้สูงอายุอยู่บ้าน กลัวเหนื่อย ไม่ให้ทำงาน ทำร้ายผู้สูงอายุทางอ้อม เร่งเกิดโรคนี้เร็วขึ้น สมองฝ่อเพราะขาดการใช้งาน เร่งพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองต้นแบบประเทศ หวังเข้าถึงบริการเร็วที่สุด คาดขยายผลใช้ทั่วประเทศปลายปีนี้
 
     น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย ผู้สูงอายุ มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งประเทศ โดยปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุไทยที่น่าห่วงขณะนี้คือโรคสมองเสื่อม ทำให้เกิดอาการหลงลืม การช่วยเหลือตัวเองลดลง ผลสำรวจโดยการตรวจร่างกายของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขล่าสุดครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2557 พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นโรคนี้ร้อยละ 8 หรือประมาณ 800,000 กว่าคนทั่วประเทศ ยิ่งอายุมากยิ่งพบสูงขึ้น ซึ่งโรคนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องพึ่งพิงการดูแลจากครอบครัวและสังคม กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั้งระดับประเทศและระดับโลก สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุไทยเป็นโรคสมองเสื่อมมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากโรคทางกายเช่นเส้นเลือดในสมองตีบแตกหรืออุดตัน ส่วนหนึ่งเกิดต่อเนื่องจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และปัจจัยเสริมอีกอย่างเกิดมาจากสมองของผู้สูงอายุขาดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เซลล์สมองส่วนที่เคยใช้งานประจำเกิดการลีบและฝ่อตัว ซึ่งถือว่าเป็นภัยเงียบและประการสำคัญขณะนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจปัญหาสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ
 
    “เข้าใจว่าเป็นความเสื่อมธรรมดาที่เกิดขึ้นตามวัย ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือเรื่องค่านิยมลูกหลานไทยที่ปลูกฝังสืบทอดกันมา ส่วนใหญ่มักจะไม่ให้ผู้สูงอายุทำงาน จะให้หยุดพักผ่อนอยู่บ้าน นั่ง นอน ดูทีวี เพราะเห็นว่าอายุมากและทำงานมามากแล้ว กลัวจะเหนื่อย ค่านิยมนี้แม้เป็นความปรารถนาดี แต่จะเป็นการทำร้ายผู้สูงอายุทางอ้อม เป็นตัวเร่งให้ผู้สูงอายุเกิดโรคสมองเสื่อมได้เร็วขึ้น เนื่องจากสมองส่วนที่เคยใช้งานประจำไม่ได้รับการกระตุ้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า โรคสมองเสื่อมสามารถชะลอการเกิดให้ช้าลงได้ ขอแนะนำให้ลูกหลานกระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ใช้สมอง ใช้ความคิดความจำบ่อยๆ เช่นเดียวกับการออกกำลังกายฝึกการใช้กล้ามเนื้อ เช่น ออกกำลังกายตามความเหมาะสม เล่นไพ่ฝึกนับตัวเลข รำวง ใช้นิ้วเท้าปั้นกระดาษให้เป็นลูกบอลกลมๆ ขณะนั่งดูทีวี เป็นต้น ควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มวัยเดียวกัน และให้ผู้สูงอายุทำงานตามศักยภาพที่มีอยู่
 
    น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ในปี 2560 นี้ กรมสุขภาพจิตเร่งพัฒนาระบบบริการเน้นหนัก 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การพัฒนาโปรแกรมสร้างสุขผู้สูงอายุ 5 มิติ ได้แก่ สุขสบาย สุขสนุก สุขสง่า สุขสว่าง และสุขสงบป้องกันโรคซึมเศร้า และโรคสมองเสื่อม ขณะนี้ขยายใช้กับผู้สูงอายุทุกชุมชนแล้ว และมอบให้โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี วิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองโรคสมองสื่อมที่มีปัญหามาจากด้านจิตใจและพฤติกรรมควบคู่กันเป็นต้นแบบของประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ป่วยเข้าถึงบริการที่เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ป่วยเข้าถึงบริการร้อยละ 10 - 15 เท่านั้น ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่า จะใช้ทั่วประเทศในปลายปีนี้
นพ.จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า โดยทั่วไปอาการหลงลืม สามารถเกิดได้กับคนทั่วไปอยู่แล้ว แต่ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม ญาติ หรือคนในครอบครัวสามารถสังเกตสัญญาณอาการเบื้องต้นง่ายๆ โดยให้ดูที่การทำกิจวัตรประจำวันที่ผู้สูงอายุเคยทำได้ แต่ทำได้น้อยลงกว่าเดิม หรือทำผิดพลาด เช่น ติดกระดุมเสื้อผิด ใส่เสื้อกลับด้าน หากพบขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อจะได้รับการส่งต่อไปยังสถานบริการที่มีความเชี่ยวชาญต่อไป หากผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้ไม่ได้รับการดูแล อาจมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่างตามมา เช่น โรคติดเชื้อ โรคขาดสารอาหาร โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้
 

  View : 2.11K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 97
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 6,120
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 22,761
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 871,929
  Your IP : 17.241.227.239