สร้างความขยัน ลดพฤติกรรมขี้เกียจให้ลูกรัก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
          เด็กวัย 6-11 ขวบ กับความขี้เกียจ ถือเป็นปัญหาที่สร้างความท้อใจและกังวลใจให้กับ พ่อแม่ ผู้ปกครองมาก การที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำอะไรแต่ไม่รับการตอบสนองจากเด็ก ขาดความสนใจในงานที่ทำ ต้องกระตุ้นย้ำหลายครั้ง ซึ่งคำตอบของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่มักให้เหตุผลว่าไม่มีแรง เหนื่อย เบื่อ หรือการทิ้งงานปฏิเสธหน้าที่ความรับผิดชอบทันที หรือแม้แต่การยอมทำตามที่พ่อแม่บอกให้ทำ มักเป็นการทำอย่างเชื่องช้าไม่กระตือรือร้น ใช้เวลาทำงานในชิ้นดังกล่าวมากเกินควร เสร็จช้ากว่าผู้อื่น ทำให้พ่อแม่หลายท่านเกิดความท้อใจในความขี้เกียจของลูกๆ เกรงว่าหากปล่อยให้มีลักษณะนิสัยแบบนี้จะส่งผลเสียแก่ตัวของเด็ก และเป็นปัญหาต่อไปในวัยผู้ใหญ่
 
         พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้อธิบายว่า เรื่องความขี้เกียจของเด็กมักสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงอายุ 7-8 ขวบ ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วง 3-4 ขวบ เด็กจะมีความกระตือรือร้นมาก จะเห็นได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรเด็กมักจะเข้ามาทำด้วย เห็นคุณแม่กวาดบ้านซักผ้าล้างจานก็อยากจะทำ เป็นส่วนหนึ่งของวัยที่เริ่มเรียนรู้สิ่งรอบๆ ตัว อยากจะเลียนแบบอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ แต่การที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็กวัยนี้จึงมักห้ามปราม ไม่ให้ลูกได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ เช่น การที่เด็กเข้ามาช่วยทำงานแต่ผู้ใหญ่กลับกลัวว่าเด็กจะทำไม่สะอาดหรือเกรงว่าจะเป็นการทำให้ของเสียหาย กลัวจะทำจานแตก นานวันเข้าพอลูกเริ่มโตขึ้นความสนใจเรียนรู้ในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำจะลดน้อยลง ทำให้เด็กไม่อยากเข้ามาทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ พอถึงจุดนี้ ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายอยากให้ลูกทำงาน แต่ลูกไม่สนใจทำ จึงกลายเป็นความขี้เกียจ
 
         พ.ญ.พรรณพิมลได้แนะนำวิธีรับมือกับความขี้เกียจของลูกน้อย ว่า ท่านที่ยังมีลูกยังเล็กๆ อยู่ หากลูกเริ่มมีความสนใจอยากจะเข้ามาใกล้ชิดอยากมาทำอะไรเลียนแบบควรจะค่อยๆ ฝึกให้เขาทำงาน เหล่านี้ เช่น เขาอยากซักผ้าอาจจะมีกะละมังเล็กๆ ให้เขาซักเสื้อผ้าบางชิ้นที่ไม่สกปรกมาก โดยเฉพาะเสื้อผ้าของเขาเอง ให้เขาทำด้วยตัวเอง ช่วยเขาบ้างหรือเขาอยากมาช่วยงานต้องเลือกดูว่าถ้าบางอย่างอันตรายมาก เช่น หั่นผักไม่แน่ใจว่าจะหันนิ้วตัวเองไปด้วยหรือไม่ อาจเอางานอันอื่นให้ลูกทำ เช่น ลูกเอาผักล้างในตะกร้าหรือเปิดน้ำให้ผัก หางานทดแทนให้ลูกเสมอ เขาจะรู้สึกคุ้นเคยกับการทำงานในชีวิตของเขาตั้งแต่เล็กๆ เป็นการค่อยๆ เพิ่มความรับผิดชอบให้กับลูก เช่น ก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่อาจจะทำให้เด็กหมดทุกอย่าง ต่อมาเมื่อเขาเริ่มโต ควรเริ่มหางานให้กับเขา เช่น ก่อนที่จะรับประทานอาหารให้เขามีหน้าที่เตรียมช้อนส้อม เตรียมจานอาหารของเขาเอง หรือว่าเมื่อทานอาหารเสร็จก็ควรเก็บจานชามของเขามาวางในอ่างล้างจาน การมีงานให้กับลูกสม่ำเสมออย่างนี้ เขาจะเริ่มคุ้นเคยและมีความรับผิดชอบว่าเขาก็มีส่วนร่วมในครอบครัว มีส่วนที่จะต้องทำงานบางอย่างให้กับครอบครัว พร้อมกับคำชมเชยเมื่อลูกได้ทำหน้าที่การงานสำเร็จ อย่าเอาแต่ตำหนิว่าเมื่อไหร่เขาจะทำได้ดีสักที เด็กอาจจะทำได้ไม่ดี หยิบจับอะไรก็ดูเก้งก้างเกะกะในสายตาคุณพ่อคุณแม่ ไม่เป็นไร เราก็ค่อยๆ ฝึกหัดเขาตั้งแต่อายุยังน้อยควรชมเชยอยู่เสมอ หรือบางท่านก็อาจจะมีรางวัลให้บ้างเมื่อเขาทำอะไรได้ดี รวมทั้งควรเลือกงานที่เด็กสนใจตามความถนัดของเด็ก ซึ่งเด็กผู้ชายบางทีไม่ชอบอยู่ในครัวกับคุณแม่ เขาชอบไปอยู่ในสวนหรือไปล้างรถกับคุณพ่อ ฝึกให้เขาทำงานอยู่เรื่อยๆ เขาก็จะมีความรับผิดชอบ รวมทั้งเรื่องการเรียนด้วย หลายคนก็จะบ่นว่าลูกเกียจคร้านกับเรื่องการเรียนมาก ไม่ชอบทำการบ้าน ถ้าเราฝึกทุกวัน เช่น เรื่องของการบ้าน เรื่องของการจัดตารางเรียน หรือทำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องของการเรียนของเขา ให้ทำอย่างสม่ำเสมอจะสามารถสร้างความคุ้นเคยได้ดีขึ้น
 
          ทั้งนี้ในกรณีที่น้องโตแล้วเข้าสู่ช่วงอายุ 7-8 ขวบ แต่ไม่ได้ฝึกพฤติกรรมมาก่อน เมื่อให้ทำอะไรก็ไม่ทำ สั่งอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งโมโห ระงับความโมโหไว้ก่อน เพราะยิ่งโมโหมาก เด็กเริ่มมีแนวโน้มต่อต้านไม่อยากทำมากขึ้น เช่นกันในเรื่องการปรับไม่ให้ลูกเป็นคนขี้เกียจ สิ่งแรกที่ควรทำคือการสังเกตความรักและความสนใจของลูก แล้วจึงกำหนดชี้แนะให้เห็นชัดเจนว่า เป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำ ซึ่งในช่วงแรกๆ อย่าไปตั้งความหวังว่าลูกจะลุกขึ้นมาทำจากเดิมที่เขาไม่ได้ทำอะไรเลย และเมื่อเลือกงานแล้ว กำหนดงานแล้ว ช่วงแรกคงต้อง ใช้ระบบการเตือน หลายคนมีความรู้สึกว่าโตแล้วไม่อยากจะพูดจะเตือน แต่การเตือนในเด็กยังเป็นสิ่งจำเป็น การใช้น้ำเสียงเวลาที่เตือนมีความสำคัญ ควรจะเป็นน้ำเสียงที่เป็นการเตือนจริงๆ ไม่ใช่น้ำเสียงการต่อว่าประชดประชัน การพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล บอกให้เขารู้ว่าถึงเวลาที่ต้องทำแล้ว และไม่ควรดึงให้เขาออกจากสิ่งที่เขากำลังเล่นสนุกมากทันที เพราะการดึงเขาออกมาทันที เป็นการสร้างความโมโหให้เด็ก จึงควรยืดหยุ่นกันบ้าง ให้โอกาสเขาเล่นต่อสักครู่หนึ่ง บอกเขาว่าเดี๋ยวสักครู่คุณแม่จะเข้ามาดูอีกครั้งนะคะ ให้โอกาสเขาสักพักหนึ่ง แล้วค่อยกลับมา ตรงนี้จะช่วยทำให้เขารู้สึกดีขึ้น คุณแม่ควรเริ่มต้นทำไปพร้อมกับลูก เด็กอาจจะทำเองไม่ได้บางทีเราอาจจะทำมากกว่าเด็กด้วยซ้ำไป แต่จุดที่สำคัญคือ การให้เขาเริ่มต้นรู้จักทำงานบ้างไม่ใช่เอาแต่เกียจคร้าน หรือเอาแต่เล่นอยู่ตลอดเวลา
 
          วางแผนแก้ไขปัญหา เป็นขั้นตอนไป อย่าไปคาดหวังว่าเวลาเริ่มต้นแล้วต้องได้อย่างใจอย่างที่ต้องการทุกอย่าง ค่อยๆ ฝึกให้เป็นความรับผิดชอบของเขา ค่อยๆ สร้างความภาคภูมิใจให้เขาได้เห็นว่า เวลาที่เขาทำงานเหล่านี้พ่อแม่มีความชื่นชมเขามาก รวมทั้งสามารถให้อภัยกับปัญหาการทำงานผิดพลาดของเด็ก ให้กำลังใจให้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ แก้ปัญหาเป็นเมื่อเกิดความผิดพลาด เด็กบางคนมีลักษณะของการต่อรอง หรือการต่อต้านค่อนข้างมาก แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความอดทนหรือใจเย็นมากพอ จะสามารถผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้ควรหาข้อดีหรือจุดดีของลูก ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า ตัวเขาก็มีคุณค่าหลายอย่างมีความสามารถหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องที่เราพยายามให้เขาทำแต่ทำไม่ได้ ให้เขาเกิดความรู้สึกว่ามีคุณค่าในตัวเอง จะทำให้เด็กหลายคนอยากจะทำอะไรที่ดีและหายเกียจคร้านได้
 
บ้านเมือง ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
 

สร้างความขยัน ลดพฤติกรรมขี้เกียจให้ลูกรัก.pdf

  View : 10.43K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 3
 เมื่อวาน 3,587
 สัปดาห์นี้ 7,548
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 26,955
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 819,606
  Your IP : 136.243.228.181