สร้างเสริมนิสัย “รักการอ่าน”

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
        การอ่านเป็นทักษะสำคัญอย่างยิ่งตลอดชีวิตของคนทุกคน ความสามารถในการอ่านมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเรียนรู้ของเด็กและนำไปสู่การแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต
       “การอ่าน” ยังก่อเกิดต่อการวางรากฐานของการคิด การวิเคราะห์ การสร้างจินตนาการ รวมถึงการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในวัยเติบโต           
 จากการสำรวจพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั่วประเทศของกรมอนามัยพบว่า เด็กไทยมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเฉลี่ยร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเฉลี่ยร้อยละ 5-15 เท่านั้น ซึ่งวิธีการหนึ่งที่สามารถพัฒนาทักษะด้านภาษาให้ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม คือ การอ่าน
       “สังคมใดที่มีการอ่านน้อย เมื่อเกิดเรื่องที่ซับซ้อน ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ เมื่อไม่เข้าใจ ก็จะไม่สามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ แก้ไม่ได้ ทำให้สังคมติดขัด และเกิดวิกฤติขึ้นเรื่อยๆ การสร้างวัฒนธรรมการอ่านจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของสังคมไทย” ความเห็นของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
 
โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยมีลักษณะความสัมพันธ์เป็นสังคมแนวดิ่ง เพราะคนมีอำนาจก็จะใช้อำนาจและไม่อยากให้คนข้างล่าง มีความรู้เพราะจะปกครองยาก ดังนั้นสังคมแบบนี้จะมีการทุจริตมาก ขณะที่สังคมการอ่านนั้นจะเกิดสังคมแนวราบ เพราะได้แบ่งปันประสบการณ์ และสามารถเกิดกลุ่มปฏิบัติการเล็กๆ เช่น กลุ่มพัฒนาชุมชน กลุ่มส่งเสริมการอ่าน ซึ่งหากเกิดกลุ่มแบบนี้ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ซึ่งแต่ละคนจะมีจิตสำนึกในศักดิ์ศรี และศักยภาพของตัวเอง  แตกต่างจากสังคมทางดิ่งที่จำกัดความรู้ เหมือนติดคุกที่มองไม่เห็น ดังนั้นคนในสังคมของการอ่าน จะมีความสุขประดุจนิพพานเลยทีเดียว
ความสุขราคาถูกเข้าถึงง่าย
        ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ แนะด้วยว่า ภาครัฐต้องลงทุนส่งเสริมให้มีนักเขียนที่ดี และแปลหนังสือดีๆ มาให้ประชาชนอ่าน ขณะที่สื่อประชาสัมพันธ์ต้องช่วยกันสื่อสารถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือให้มากขึ้น เราต้องทำการอ่านให้เป็นความสุขราคาถูกเข้าถึงง่าย การอ่านจะช่วยสร้างจินตนาการ ได้ความรู้ เกิดความดี ทำให้เกิดมิตรภาพและพลังทางสังคม ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้นได้
ทำไมเราต้องอ่านหนังสือ
        ด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ให้ความเห็นว่า มีงานวิชาการที่ออกมาสนับสนุนว่าการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสมองและศักยภาพของมนุษย์ ฐานการรักการอ่านจะหนักแน่นมั่นคงได้ต้องเริ่มที่บ้าน และสานต่อในโรงเรียน และการอ่านจะเกิดประโยชน์สูงสุดได้ เมื่อเป็นการอ่านที่เริ่มต้นด้วยความสุข ความเพลิดเพลินและความรื่นรมย์ เพราะความสุขที่เกิดจากการอ่าน การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ จะกระตุ้นให้สมองซึ่งเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ หลั่งสารแห่งการเรียนรู้ที่เรียกว่า “โดพามีน” ออกมาทุกครั้ง ที่สำคัญห้วงขณะของความสุขความรื่นรมย์ สมองจะจดจำได้ง่าย เรียนรู้อะไรก็สนุก ไม่เบื่อหน่าย
 
heartสุขใจทุกครั้งเมื่อได้อ่านheart
       นางสุดใจ บอกอีกว่า การอ่านเป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญาของผู้คนและสังคม แต่การจะทำให้ใครต่อใครหลงรักการอ่าน ไม่ได้เริ่มจากการฝึกทักษะหรือสิ่งใดที่เป็นหลักการอันเคร่งเครียด เราค้นพบว่า กุญแจสู่การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย หรือทำให้การอ่านเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนนั้นต้องเริ่มจาก การให้การอ่านนำมาซึ่งความสุข ความเพลิดเพลินแก่คนอ่าน แล้วจึงค่อยๆ ยกระดับความเพลิดเพลิน เป็นการพัฒนาปัญญา
เปิดโลกแห่งความสุขวัยเด็ก
       นางสุดใจ สะท้อนมุมองว่า ทำไมต้องบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ก็เพื่อสร้างคืนวันที่เต็มไปด้วยความสุข ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว จากการอ่านหนังสือเพื่อเป็นสายใยเชื่อมร้อยหัวใจ และเมื่อเด็กค่อยๆ เติบโตขึ้น โรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการสานต่อให้การอ่านหนังสือได้สร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย พร้อมกับเป็นเครื่องมือพัฒนาและยกระดับจิตใจของผู้อ่าน
      “เมื่อถึงตรงนั้นสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ เมื่อเปิดหนังสือครั้งใด จะเต็มไปด้วยพลังของความทรงจำแห่งความสุข ที่เกิดจากความประทับใจแรกที่มีต่อการอ่านหนังสือ และจะค่อยๆ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว เพราะเป็นการอ่านที่เต็มไปด้วยความสุขใจ” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน บอกทิ้งท้าย
 
Team Content www.thaihealth.or.th
 

สร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน.pdf

  View : 3.94K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,179
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,202
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,843
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 873,011
  Your IP : 3.144.89.197