สร้างแรงจูงใจ ฝึกลูกทำงานบ้าน

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

      การทำงานบ้านถือเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง การทำงานบ้านเล็กน้อยเป็นการช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเด็กๆ และยังเป็นการแสดงความมีน้ำใจ เต็มใจแบ่งเบาภาระ ช่วยเหลือ อีกทั้งยังสร้างให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตอีกด้วย
     บางครอบครัวต้องการให้ลูกช่วยงานบ้านแต่เริ่มต้นผิดวิธี ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนขอเขียนเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้ลูกทำงานบ้านอย่างมีความสุขดังนี้
1. อย่าคาดหวังกับความสมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีใครสมบูรณ์แบบ การสร้างให้ลูกมีความรู้สึกที่ดี มีความคิดเชิงบวกกับงานที่ทำจะเป็นการสร้างทัศนคติที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะหากผิดพลาด ลูกอาจจะไม่อยากทำงานบ้านอีกเลย อย่ากระโดดเข้าไปทำงานเหล่านั้นแทนเพราะเห็นความสกปรกหรือไม่เรียบร้อยเล็กๆ น้อยๆ จงสร้างให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองดีกว่า
2. อย่ารอและพูดว่าลูกยังเล็ก ลูกมีความสามารถมากกว่าที่เราคิด เด็กๆ สามารถทำงานบ้านเมื่ออายุยังน้อย เช่นช่วยเก็บผ้า ช่วยเช็ดโต๊ะอาหารเป็นต้น อย่าใช้ข้ออ้างว่าลูกยังเล็กเมื่อโตขึ้นคงพร้อม แต่การให้ลูกเริ่มตั้งแต่ยังเล็กเป็นการเตรียมตัวที่ดีกว่าเพราะลูกจะค่อยๆเรียนรู้โดยการฝึกปฏิบัติ
3. อย่าหวงคำชม กล่าวชมเชยลูกทันทีเมื่อลูกทำงาน ไม่เฉพาะแต่ตอนที่ลูกทำงานเสร็จแต่ในขณะที่ลูกกำลังอยู่ในขั้นตอนการงานนั้นๆด้วย เพราะจะทำให้ลูกมีกำลังใจ และเสริมกำลังใจให้ลูกทำงานบ้านต่อในครั้งต่อไปอีกด้วย
4. ต้องมีความสม่ำเสมอ หากทำบ้างไม่ทำบ้าง ลูกจะไม่รู้ว่าการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญ และอาจหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบในการทำงาน เพราะไม่เห็นความสำคัญและไม่มีใครตรวจสอบ และคิดว่าหากไม่ทำ เดี๋ยวคงมีคนอื่นทำให้ เป็นต้น
5. ทำกระดานสำหรับการทำงาน ให้เราจดรายละเอียดทุกอย่างของงานที่ต้องทำของทุกคนในบ้าน รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่ด้วย และให้ลูกเลือกว่าจะทำงานชิ้นไหนที่ชอบ และหลังจากนั้นให้ทำเป็นตาราง โดยสิ่งแรกคือให้คุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบดูว่า งานต่างๆ ที่ลูกเลือกนั้นเหมาะสมกับวัยหรือไม่ หลังจากนั้น ทำเป็นตาราง 3 ช่อง ช่องที่ 1 คือ ใครเป็นผู้รับผิดชอบงานนั้น ช่องที่ 2 คือ วันที่ต้องทำงานให้เสร็จ ช่องสุดท้ายคือเครื่องหมายว่าทำงานนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ติดกระดานการทำงานไว้ในที่ๆสามารถสังเกตเห็น และสามารถตรวจสอบได้
เคล็ดลับการทำตารางการทำงาน
5.1 เขียนรายละเอียดของงานที่เฉพาะเจาะจง เช่น แขวนเสื้อผ้าในตู้ เก็บหนังสือเข้าชั้น พับผ้าห่ม ล้างจานชามในอ่าง หรือเก็บของเล่นเข้ากล่องเป็นต้น ดีกว่าการเขียนแบบกว้างๆ เช่น ทำความสะอาดห้อง หรือ การทำความสะอาดห้องนั่งเล่น เป็นต้น
5.2 ทำให้ดู แรกสุดคุณพ่อคุณแม่ต้องสาธิตให้ดูว่าการทำงานบ้านนั้นทำอย่างไร เป็นขั้นเป็นตอน หลังจากนั้นให้ลูกทำตามที่ละขั้น โดยคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยดูอยู่ห่างๆ และเมื่อลูกปฏิบัติได้แล้วให้ลูกทำเอง
5.3 อย่าจ้ำจี้จ้ำไชมากไป มีความยืดหยุ่น ให้ลูกรู้สึกสนุกและได้รับความภาคภูมิใจ เราต้องการให้ลูกมีความรับผิดชอบและทำโดยไม่ต้องให้ควบคุมตลอด ดังนั้นการใช้เทคนิคการเตือนโดยคำพูดว่า เมื่อเสร็จแล้วให้ทำอย่างอื่นต่อไป ....... เช่นเมื่อลูกให้อาหารแมวแล้ว มาทานอาหารเย็นกันเป็นต้น
6. ควรให้ค่าตอบแทนในการทำงานบ้านหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูลูกจะตอบว่าไม่ เนื่องจากการทำงานบ้านเป็นความรับผิดชอบที่ต้องทำ เป็นการแสดงความมีน้ำใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งเรียนรู้เรื่องการทำงานบ้านในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เด็กๆ จึงไม่ควรมีจุดสนใจอยู่ที่การมีรายได้หรือได้เงิน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องรายได้อยู่แล้ว แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่นเดียวกัน ในเด็กโตอาจมีแรงจูงใจในเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เช่น หากลูกทำงานนอกเหนือจากงานประจำจะได้เงินพิเศษ เป็นต้น
        การให้ลูกมีความรับผิดชอบในการทำงานบ้านจะช่วยสร้างลูกให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ จำไว้ว่าลูกสามารถทำได้มากกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิด หากลูกสามารถเล่นเกมแข่งขันในอินเตอร์เน็ตได้ นั่นหมายความว่า ลูกสามารถเป็นผู้ช่วยและรับผิดชอบงานบ้านได้ดี
        ช่วยกันฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็ก จะได้ผลที่คุ้มค่าเกินกว่าที่เราคิดเลยทีเดียว เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

 

 


  View : 4.01K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 963
 เมื่อวาน 1,589
 สัปดาห์นี้ 5,815
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 42,532
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 835,183
  Your IP : 193.186.4.155