เด็กเก่ง ดี และมีความสุขได้ในยุคการแข่งขันสูง

ผลิตและเผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

  "สังคมไทย" มีการแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน ทำให้พ่อแม่จำนวนมากหวั่นไหวไปกับเทรนด์ที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาสมองของเด็กเป็นหลัก และกังวลว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอที่จะสอนลูกได้เอง จึงผลักให้ลูกวัยอนุบาลและประถมต้นเรียนพิเศษมากขึ้นๆ ทำให้มีเวลาเล่นและทำกิจกรรมกับพ่อแม่น้อยลง ทั้งที่จริงแล้วสติปัญญามีผลต่อความสำเร็จในชีวิตแค่ 20% และการที่พ่อแม่ส่งเสริมด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปเมื่อลูกยังเล็ก อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมอันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเด็กที่เก่ง ดี และมีความสุข ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ เมื่อเด็กโตขึ้น
"พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์" ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า "ทุกวันนี้การที่เด็กอนุบาลและประถมต้นถูกกดดันทางด้านวิชาความรู้มากเกินไป จะส่งผลให้เกิดความเครียด และหลายรายแสดงออกผ่านพฤติกรรมก้าวร้าว จนพ่อแม่รับมือไม่ไหวและต้องเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การที่เด็กไม่ได้ใกล้ชิด ไม่ได้เล่นกับพ่อแม่อย่างเพียงพอ ก็มักจะรู้สึกขาดความรัก โตขึ้นมารักใครไม่เป็น เห็นแก่ตัว ขาดทักษะในการเข้าสังคม และขาดความมั่นคงทางจิตใจ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เหมาะสม และจะติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่
        เด็กไม่สามารถเป็นคนที่สมบูรณ์ด้วยการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ความใกล้ชิด ความรักโดยตรงจากแม่ จะทำให้เขามีความมั่นคงในอารมณ์ รู้จักรัก รู้จักผิดชอบชั่วดี หัวใจแม่รู้ดีที่สุดว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกของตัวเองคืออะไร เวลาสอนหรือเล่นกับลูกเป็นช่วงเวลาที่ดีของการสอนความรู้ต่างๆ อย่างกลมกลืมและเป็นธรรมชาติ แม่จะทราบได้เองว่าเมื่อไรควรสอนเรื่องอะไรอย่างเนียนๆ สนุกๆ ผ่านการเล่น การทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การสอดแทรกความรู้รอบตัว คำศัพท์ กติกา รู้แพ้รู้ชนะ แก้ปัญหา ผ่านเกมง่ายๆ เช่นเกมต่อบล็อกประกอบคำศัพท์หรือภาพ หรือเกมแข่งต่อจิ๊กซอว์ การสอนวิทยาศาสตร์ทั้งด้านฟิสิกส์และแรงโน้มถ่วงของโลก ผ่านการพับและร่อนเครื่องบินกระดาษ การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ คุณธรรม จริยธรรม ผ่านการผลัดกันเล่านิทาน การฝึกภาษาและสำเนียงผ่านการร้องรำทำเพลง การสอนเรื่องการคำนวณและทักษะการสื่อสารผ่านการเล่นขายของ และการฝึกให้เด็กรู้จักกาลเทศะในการพูดและปฏิบัติตัวในสถานการณ์ต่างๆ ผ่านการเล่นบทบาทสมมุติอื่นๆ การเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำในสิ่งที่หลากหลาย ได้ลองผิดลองถูก ตัดสินใจแก้ปัญหาเอง ได้รู้จักความสำเร็จและผิดหวังจะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ กล้าที่จะยอมรับความล้มเหลวและเริ่มต้นใหม่ กล้าให้ความรักผู้อื่นอย่างที่เรียนรู้มาจากแม่"
     เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป เป็นวัยที่เริ่มเลียนแบบอยู่ใกล้ใครก็จะสร้างบุคลิกและนิสัยตามคนนั้น ความใกล้ชิดและการเล่นกับพ่อแม่จึงมีความสำคัญมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่สร้างความเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้ อยากลอง อยากช่วย หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจะเติบโตอย่างมั่นคง แต่หากถูกบังคับให้ทำอย่างอื่นที่ตนเองไม่ชอบ เด็กจะรู้สึกหลงทาง หาตัวตนไม่พบ ขาดความมั่นใจในตัวเอง
     ".ที่สำคัญคือ แม่ต้องไม่หวั่นไหวไปตามกระแส ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เริ่มจากการสร้างสมดุลทั้งการเรียนรู้และการเล่น พ่อแม่สามารถขอคำแนะนำหรือให้กำลังใจจากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนออนไลน์หลายรายทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้คุณแม่มือใหม่และมีประสบการณ์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้จากกันอย่างสะดวกเพื่อเลี้ยงลูกด้วยหัวใจ สู่การสร้างลูกที่เก่ง ดี และมีความสุข
    "การเลี้ยงเด็กต้องอาศัยความอดทน และความรัก ที่สำคัญคือคุณแม่ต้องใช้หัวใจในการเลี้ยงลูก คุณอาจจะต้องการกำลังใจและคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์บ้าง เพื่อที่จะปั้นเด็กให้ดีและมีความสุข เพื่อเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม"พ.ญ.อัมพร กล่าวสรุป


      ที่มา บ้านเมือง


  View : 6.13K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 975
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 5,148
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 29,083
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 878,251
  Your IP : 94.31.109.147