โรคสมาธิสั้น'ในวัยรุ่น-ผู้ใหญ่กรมสุขภาพจิตย้ำรักษาเร็วใช้ชีวิตร่วมผู้อื่นได้

กรมสุขภาพจิตเผย "โรคสมาธิสั้น" พบในผู้ใหญ่ได้ ไม่เฉพาะเด็ก ย้ำรักษาให้เร็ว ลดอุบัติเหตุ ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ แนะ 9 วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฝึกอารมณ์ตนเอง ไม่ดีใจหรือเสียใจเร็วเกินไป รู้จักสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักรอคอย รับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อลดปัญหาการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ลดพฤติกรรมใจร้อนหุนหันพลันแล่น
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ไม่ใช่อาการที่พบได้เฉพาะวัยเด็กเท่านั้น วัยหนุ่มสาวหรือวัยผู้ใหญ่ก็พบได้เช่นกัน ซึ่งสมาธิสั้นในผู้ใหญ่จะไม่ซนเหมือนในเด็ก แต่จะมีปัญหาเรื่องการวางแผน การแก้ไขปัญหา หงุดหงิด สมาธิไม่ดี ทำงานไม่เสร็จ เพราะมีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด การวางแผน การบริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่างๆ (Executive Functions-EF)
"อาการที่พบบ่อยคือ วอกแวกง่าย ฟังอะไรจับใจความไม่ค่อยได้ ทำงานไม่เสร็จทันเวลาที่กำหนด ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี ทำงานผิดพลาดบ่อย หาอะไรไม่ค่อยเจอ ผัดวันประกันพรุ่ง มาสายเป็นประจำ หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ ทำตามใจชอบ อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว มีปัญหากับบุคคลรอบข้างบ่อยๆ เบื่อง่าย คอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้ เครียด หงุดหงิดง่าย บางคนซึมเศร้าและวิตกกังวล นอนไม่หลับ เสี่ยงต่อปัญหาการติดสุราและยาเสพติดอื่นๆ รวมทั้งมีปัญหาเรื่องการขับรถและประสบอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าคนปกติ เพราะไม่มีใจจดจ่อ จึงมักมีปัญหาเรื่องขับรถเร็วเกินพิกัดและฝ่าฝืนกฎจราจร เป็นต้น" น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่นั้น ทางที่ดีควรรีบพบจิตแพทย์ เพื่อประเมิน วินิจฉัย และให้การรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ซึ่งการรักษาโรคสมาธิสั้นนั้น รักษาได้ด้วยยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การรับประทานยาจะอยู่ภายใต้การวินิจฉัยและกำกับดูแลโดยแพทย์ ซึ่งโรคนี้เกิดจากสารเคมีในสมองส่วนหน้าไม่สมดุล การกินยาจะช่วยทำให้สมาธิดีขึ้นได้ และสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น โดยส่วนใหญ่รักษาหายหรือควบคุมอาการได้ สามารถทำงานและใช้ชีวิตปกติได้ มีเพียงประมาณร้อยละ 30 ที่อาการอาจแย่ลงและมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ติดยา ก้าวร้าว ครอบครัวและผู้ใกล้ชิดจึงต้องให้ความร่วมมือในการดูแล ให้กำลังใจและความเข้าใจ
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวด้วยว่า วิธีการปฏิบัติตัวหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น 1.ฝึกอารมณ์ตนเอง ไม่ดีใจหรือเสียใจเร็วเกินไป 2.รู้จักสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักรอคอย รับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อลดปัญหาการอยู่ร่วมกับผู้อื่น 3.ลดพฤติกรรมใจร้อนหุนหันพลันแล่น เช่น ควรขับรถให้ช้าลง 4.จัดตารางเวลาในการทำงานและใช้ชีวิต มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า 5.จัดวางสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบเป็นที่เป็นทาง 6.ทำประโยชน์ให้แก่ตัวเองและผู้อื่น เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ เสริมความมั่นใจ และความมีคุณค่าให้ตัวเอง 7.พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ 8.รับประทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำตาลและกาเฟอีน และ 9.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น หากได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาได้เร็วจะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างไม่ลำบาก
ที่มา : คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559
 

  View : 68.52K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 215
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 6,238
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 22,879
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,047
  Your IP : 72.14.201.154