เมื่อคนพิการมีปัญหาสุขภาพช่องปาก

โดยศูนย์ข้อมูลวิชาการ จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 17ธันวาคม 2554
 
ปัญหาสุขภาพช่องปากมีมากมาย เช่น ฟันผุ ฟันคุด แผลในช่องปาก เหงือกบวม เหงือกอักเสบ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนปกติทั่วไปที่เวลามีปัญหาก็วิ่งไปพบทันตแพทย์ แต่ในคนพิการมันไม่ง่ายอย่างนั้น
ทพญ.ดร.มัทนา เกษตระทัต อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำโครงการวิจัยการสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาระบบบริการและระบบสร้างเสริมสุขภาพช่องปากสำหรับคนพิการในประเทศไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันสร้างเสริมคนพิการ (สสพ.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางในการสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากของคนพิการผ่านงานทันตสาธารณสุขตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงตติยภูมิ เพื่อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บอกว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากในคนพิการก็เหมือนกับคนปกติทั่วไป แต่ในคนที่มีความผิดปกติทางสมอง เช่น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม ดูแลตัวเองไม่ได้ การทำความสะอาดช่องปากอาจทำได้ไม่ดีเท่ากับคนปกติ ทำให้เกิดปัญหาเหงือกอักเสบและฟันผุมาก พอมาพบทันตแพทย์ก็มีปัญหาสุขภาพช่องปากมากแล้ว ถ้าเป็นเด็กที่พิการอาจจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะมีทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะเด็กดูแลอยู่แล้ว แต่ผู้พิการทางสมองที่มีอายุมากขึ้น อาจมีปัญหาได้
ความจริงการวินิจฉัยโรคในช่องปากคนพิการไม่ได้มีปัญหาสำหรับทันตแพทย์ แต่ปัญหาที่พบบ่อย เมื่อผู้พิการทางสมองมาพบแพทย์ คือ ไม่ยอมอ้าปาก ปัญหาเรื่องการสื่อสาร นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากสถานบริการในประเทศไทยไม่ได้ทำไว้รองรับผู้พิการเหมือนกับต่างประเทศ เช่น ประตูทางเข้าห้องทำฟันแคบมากจนรถเข็นไม่สามารถเข้าไปได้
ดังนั้นการตรวจรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากในผู้พิการทางสมอง และการเคลื่อนไหว อาจต้องใช้เวลามากกว่าคนปกติ จากเดิมใช้เวลาประมาณ 30 นาที อาจเพิ่มเป็น 1 ชม.
นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อคนไข้ที่สมองพิการมาพบทันตแพทย์ ตัวทันตแพทย์เองจะไม่กล้าตรวจรักษา เพราะเกรงว่า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ตัวคนไข้เองก็ไม่นิ่ง คงเป็นเพราะว่าในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีการเตรียมพร้อมทันตแพทย์ในการดูแลคนพิการ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีหรืออบรมระยะสั้นไปแล้ว
เมื่อถามว่าจะมีวิธีสังเกตความผิดปกติของคนพิการที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างไร? ทพญ.ดร.มัทนา กล่าวว่า อาจดูที่สีหน้าเวลารับประทานอาหาร เช่น ดูว่ามีอาการหยีตาแสดงอาการเจ็บปวดหรือไม่ เอามือทุบปาก เอานิ้วแหย่ปากหรือไม่

คนพิการมีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว แต่หลักปฏิบัติผู้ให้บริการยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้เท่าไร อาจจะไปมองที่กลุ่มอื่นมากกว่า เพราะผู้พิการมักจะอยู่ที่บ้านการเดินทางออกมารับการรักษายังสถานพยาบาลยากลำบาก และไม่มีความสะดวกในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องการเดินทาง ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล หากระบบประกันสุขภาพหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายจำพวกอุปกรณ์ ยา และวัสดุทางการแพทย์ก็จะเป็นการให้การช่วยเหลือคนพิการได้มาก และอยากให้ออกข้อกำหนดให้สถานพยาบาลจัดสภาพแวดล้อมให้สะดวกต่อคนพิการ เช่น ทางขึ้นสำหรับรถเข็น ประตูทางเข้าที่กว้างพอ ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ที่สำคัญอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยมีการจัดการเรียนการสอนทักษะทางคลินิกในการให้บริการคนพิการ โดยการบรรจุประเด็นคนพิการในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือในรายวิชาเลือก และเน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้ทันตแพทย์ทั่วไปสามารถดูแลรักษาคนพิการได้ ไม่ควรผลักหรือส่งต่อผู้พิการไปที่อื่น นอกจากนี้ จะต้องเร่งสนับสนุนให้พ่อ แม่หรือผู้ดูแล เด็กพิเศษ คนพิการให้ใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กตั้งแต่ก่อนที่ฟันซี่แรกจะขึ้น จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพทางช่องปากได้อย่างดีที่สุด.
นวพรรษ  บุญชาญ

 


  View : 6.44K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,423
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 4,483
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 24,399
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 906,077
  Your IP : 54.36.148.242