เยียวยาจิตใจ หนึ่งมิติสร้างสมานฉันท์

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

                แม้การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมเสริมการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจด้านการเยียวยาจิตใจประชาชน ซึ่งเป็นมิติหนึ่งของการเดินหน้าสร้างปรองดองสมานฉันท์ และเป็นนโยบายระยะเร่งด่วนของ สธ. ซึ่งมีกรมสุขภาพจิตเป็นหัวเรือใหญ่

                กรมสุขภาพจิต แบ่งกลุ่มเป้าหมายในการเยียวยาจิตใจเป็น 5 กลุ่มหลัก 1.ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการ ญาติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและพิการและผู้ถูกคุมขัง 2.กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม ที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เช่น ผู้ร่วมชุมนุม 3.ประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุและประชาชนทั่วไป 4.ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คือ ชุมชนที่มีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม ชุมชนที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และ 5.ผู้ให้การช่วยเหลือ เช่น บุคลากรทางสุขภาพ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร เป็นต้น

                "เป้าหมายการดำเนินการเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในกลุ่มคนที่คิดต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สร้างความหวังในการสร้างชุมชนและสังคมร่วมกัน สอดคล้องกับแนวทางของ คสช.ที่ต้องการคืนความสุขให้คนในชาติ" นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าว

                นพ.วชิระ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556-พฤษภาคม 2557 ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และบาดเจ็บรวม 862 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บ 834 ราย และก่อให้เกิดความเครียด ตื่นตระหนก วิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่มีความสุข กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง ทั้งสุขภาพกายและจิต และจัดโครงการร่วมใจปรองดองสมานฉันท์

                การทำงานเพื่อเยียวยาจิตใจ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายในการประชุมบุคลากรที่จะปฏิบัติงานในเรื่องนี้ ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ว่า จะมีทีมให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ หรือทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ที่มีการจัดตั้งอยู่ในระดับอำเภอ จำนวน 853 ทีมทั่วประเทศ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงติดตามดูแลต่อเนื่องด้วย

                ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้จัดทำคู่มือเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ภายใต้โครงการรวมใจปรองดองสมานฉันท์ สำหรับให้ทีมเอ็มซีเอทีทีนำไปปรับใช้ โดยในคู่มือระบุขั้นตอนการเยียวยาจิตใจ 4 ขั้นตอนหลัก 1.การพูดคุยเพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างทีมเยียวยาจิตใจและประชาชน 2.การประเมินสภาพจิตใจ จะดูจากปฏิกิริยาทางอารมณ์และการแสดงออกด้านอารมณ์ เช่น โกรธ เกลียด ไม่ไว้วางใจ ซึมเศร้า รู้สึกตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น

                3.การช่วยเหลือด้านจิตใจและการให้คำปรึกษา เน้นการจัดการกับอารมณ์ทางลบที่รุนแรง เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์ซึมเศร้า รวมถึงการแก้ไขปัญหาและการให้กำลังใจ เป็นการแสวงหาทางเลือกของการแก้ปัญหาและการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต้องอยู่ภายใต้ศักยภาพและบริบทของผู้ได้รับผลกระทบ และ 4.การส่งต่อ เป็นการเสนอให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาการที่ควรส่งต่อ อาทิ เก็บตัว เหม่อลอย ฉุนเฉียว หงุดหงิด ผวา ตกใจกลัวง่าย นั่งซึม มีความคิดหรือพฤติกรรมรุนแรง ทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่น มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

                นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังจัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง สำหรับให้บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครและแกนนำในชุมชนนำไปปรับใช้จัดกิจกรรมให้แก่คนในชุมชน โดยใช้เวลา 2 วัน เพื่อสร้างพลังความสามัคคีนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง ตัวอย่างกิจกรรม เช่น “เสือกินวัว” เป็นการแบ่งผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มย่อยแล้วจับมือเป็นวงกลมกันไม่ให้เสือเข้ามากินวัวที่อยู่ในรั้วได้ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า การร่วมกันช่วยเหลือเมื่อชุมชนเกิดปัญหา จะทำให้ชุมชนสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ สร้างพลังให้เกิดขึ้นกับชุมชน

                “บางพื้นที่ได้เริ่มทำงานแล้ว ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีบริบทที่แตกต่างกัน บางพื้นที่มีเพียงความเห็นขัดแย้ง บางพื้นที่มีการแบ่งข้างแบ่งขั้วอย่างรุนแรง การทำงานจึงต้องอาศัยกลไกและหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันทำ ต้องมีวิธีการพูดคุย การประเมินสถานการณ์? และจะมีการสำรวจความสุขของชุมชน และอุณหภูมิทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย คาดว่าจะเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้” พญ.พรรณพิมล กล่าว


พวงชมพู ประเสริฐ : คมชัดลึก


  View : 3.08K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 691
 เมื่อวาน 737
 สัปดาห์นี้ 5,351
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 21,992
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 871,160
  Your IP : 184.73.68.20