รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีของพ่อแม่และสังคมในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่ ละเอียดอ่อนและต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไทย “หัวใจขาดรัก” เกิดขึ้นในอนาคต
นักวิชาการและจิตเวชเด็กชี้ว่า ช่วงขวบปีแรกของลูกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่พ่อแม่ควรให้ความรักโอบกอดลูก น้อยให้เต็มที่ เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย กลายเป็นเด็กที่มีความรักตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง และเหนี่ยวรั้งให้เขากลายเป็นเด็กดีไม่ก่อปัญหาให้กับสังคม
สายใยแห่งรัก
ทารกที่ได้รับการเลี้ยงจากปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่อย่างเต็มที่จนเกิดสายใยแห่งรักในช่วงขวบปีแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ มากๆ เพราะความทรงจำและความรู้สึกของเด็กเมื่อโตขึ้น เด็กจะรักคนเป็น รู้สึกเคารพผู้อื่น เข้าอกเข้าใจผู้อื่น แต่สำหรับเด็กที่ขาดรักจะมีพฤติกรรมไม่สนใจใคร รักแค่ตัวเอง กล้าทำสิ่งที่ละเมิดสิทธิพ่อแม่ เพราะเด็กไม่เกิดความรัก ทำให้เด็กสามารถทำร้ายพ่อแม่ได้
“ดังนั้นพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยความรัก จนเกิดสายใยรักแห่งความผูกพัน ยิ่งสังคมเมืองไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ไม่มีเวลาเพียงพอในการอบรมลูก ต้องเข้าใจว่าความรักลูกต้องเกิดศรัทธาในพ่อแม่ด้วย สัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองต้องดี ความสัมพันธ์ไม่ดีอย่าข้ามไปเรื่องอื่น การตั้งกฎวินัยมีระเบียบมากเกินไป ลูกก็ไม่ฟัง เพราะเขาไม่รู้สึกเคารพ ถ้าพ่อแม่สอนอย่างเดียวแต่ไม่ได้มองว่าเด็กเข้าใจหรือเปล่า เด็กเกิดภาวะต่อต้าน ประชด ทุกคนจะต้องตระหนักที่จะหันมาเลี้ยงดูลูกตัวเอง ซึ่งปัญหาความรุนแรงมีโอกาสเกิดได้ทุกบ้าน ซึ่งการเลี้ยงลูกอย่างใส่ใจในช่วง 0-12 เดือน เป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ” พญ.วรรณพักตร์ วิวัฒนวงศา แพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าว
ซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับ พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า เด็กแรกเกิดแม้ยังเล็กมาก แต่เขาสามารถซึมซับและจดจำความรักความอบอุ่นที่เขาเคยได้รับได้
“เด็กอายุ 0-1 ขวบ เราฟูมฟักใส่ใจอย่างดี ผู้เลี้ยงดูกับเด็กจะเกิดความผูกพันรู้ใจซึ่งกันและกัน ต้องผ่านการสะสมทีละเล็ก สิ่งที่เด็กจำ เขาจะจำว่า เขารู้สึกดี อารมณ์ดี รู้สึกไว้ใจกับคนรอบข้าง รู้สึกมีความแน่นอนในชีวิต รู้ว่ามีคนรักเขา อยากอยู่กับพ่อแม่ เขารู้สึกไว้ใจพ่อแม่”
เดือนซึมซับความรักได้ดีที่สุด
เด็กแรกเกิดเมื่อได้พัฒนาองค์ร่วมทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ประสาทสัมผัสที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ต่อมา ส่งผลถึงการมองเห็น รับลิ่นรับรส ได้ยินเสียง ผิวสัมผัส เมื่อทารกได้รับสัมผัสต่างๆ จะส่งสัญญาณไปที่สมอง ทำให้สมองเกิดการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาเลยก็ว่าได้ ทารกจะสามารถจับเสียงพ่อแม่ได้ การกระตุ้นด้วยเสียง แสง ในระยะตั้งครรภ์ทำให้สมองเจริญเติบโตได้เหมือนกัน เมื่อคลอดแล้ว พ่อแม่มองหน้าลูก ส่งสายตากับลูก ทำปากให้ลูกเห็นมันทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ส่งสัญญาณทำให้สมองเจริญเติบโต
“เมื่อพ่อแม่โอบกอด หอมทารก ทารกจะรู้สึกปลอดภัย ช่วยกระตุ้นประสาททำให้เด็กพัฒนาในด้านอื่นๆ ได้ดี ถ้าพ่อแม่ทำได้แบบนี้เด็กไม่ค่อยมีปัญหา ช่วยลดปัญหาให้น้อยลง” พญ.สุนิดา กล่าว
เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นเด็กดี
พญ.สุนิดา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 1 แนะว่า วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ และต้องเลี้ยงดูลูกตามช่วงวัยที่เหมาะสม ระหว่าง 0-6 ขวบ แต่ช่วง 0-12 เดือนสำคัญที่สุด
“เด็กก่อน 1 ปี ควรได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เด็กร้องต้องการอาหาร การโอบกอดในวัย 0-1 ปี สิ่งเหล่านี้เป็นตัวพัฒนาทำให้เกิดความผูกพันกับตัวเด็ก ความผูกพันเป็นบ่อเกิดให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างเด็ก กับคนเลี้ยงดู การที่เด็กคนหนึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยงดีในขวบปีแรกจะส่งผลให้ การมองโลกของเด็กดีไปด้วย เขามั่นใจว่าโลกนี้ปลอดภัย คุ้มครองเขาได้”
ฉะนั้น ถ้าเด็กไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว เมื่อเด็กก้าวสู่ขวบปีที่ 2 ซึ่งเป็นวัยที่เด็กจะเริ่มดื้อ ถ้าเด็กไม่เชื่อไม่รักกันมาก่อน พ่อแม่จะรั้งเด็กไม่ได้เลย แต่หากพ่อแม่หนักแน่นในการเลี้ยงดูเด็ก พร้อมใกล้ชิด เรียนรู้เด็กไปพร้อมๆ กับที่เด็กเรียนรู้พ่อแม่ แต่หากขวบปีแรกดูแลเด็กไม่ดี เมื่อถึงวัยซนเด็กต่อต้าน พ่อแม่ยิ่งใส่ความรุนแรงแล้วเด็กเก็บไว้ เด็กก็ไปรอระเบิดเมื่อเขากลายเป็นวัยรุ่น เพราะเมื่อวัยเด็กเขาทำอะไรพ่อแม่ไม่ได้ เมื่อเด็กกลายเป็นวัยรุ่นเขาจะต่อล้อต่อเถียงกับพ่อแม่รุนแรงมากขึ้น
“พอเด็กเข้าสู่ช่วงอายุ 3 ขวบ เด็กจะชอบทดลอง ชอบเรียนรู้และทำอะไรด้วยตัวเอง หากพ่อแม่ไม่ส่งเสริม ทำให้เด็กไม่กล้า ไม่มั่นใจ ทำให้ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำ ยิ่งดื้อถูกดุถูกว่า โตขึ้นเด็กจะกลายเป็นเด็กดื้อ ในทางกลับกันหากเด็กได้รับคำชม หนูเก่งมีคุณค่านะ เด็กจะรู้สึกดี ในช่วงวัย 35 ขวบ เป็นวัยที่เด็กช่างคิด ช่างฝัน อยากลอง ถ้าพ่อแม่ส่งเสริมให้เด็กลองคิด ลองทำ ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เขาจะมีทักษะแก้ปัญหามากขึ้น แต่หากเด็กโดนดุซ้ำบ่อยๆ ตั้งแต่เด็กยันโตจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกกลัวง่าย
เมื่อเด็กเข้าสู่วัย 6 ขวบ แล้วไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัย เด็กจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาการเรียน เรียนไม่ดี เสียความมั่นใจ จับกลุ่มเพื่อนหลุดออกไปจากสายตาเมื่อเขาโตขึ้น ยิ่งถึงช่วงพีกฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ถึงวัยติดเพื่อน ค้นหาความเป็นตัวเอง
“สิ่งที่หมอบอกทั้งหมด หากเด็กมีความไว้เนื้อเชื่อใจ เด็กจะอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ส่งผลให้เขาตั้งใจเรียน เรียนเก่ง แต่เด็กอีกกลุ่มที่ได้รับการเลี้ยงดูที่พร่องตั้งแต่เด็ก เด็กกลุ่มนี้จะพร้อมแยกตัวและไปอยู่รวมตัวกัน และพร้อมทำสิ่งไม่ดีได้ เพราะเด็กมีปมในใจ ถูกว่า ถูกดุ ถูกทำให้สูญเสียความมั่นใจ พ่อแม่ไม่สนใจเขา เวลาพ่อแม่ดุว่า เขาจะจดจำสิ่งเหล่านี้ได้แม่นยำ เกิดการก่ออาชญากรรมต่างๆ ตามมา นี่เรายังไม่พูดถึงจิตเวชที่ทำให้เด็กก่ออาชญากรรม ถ้าเด็กคนหนึ่งเติบโตมาแบบนี้ เขาโตสู่วัยรุ่น ความยับยั้งช่างใจต่ำที่สุด อ่อนไหวมากๆ ถ้าโกรธ โกรธแรง เสียใจหนัก ทำอะไรรุนแรงย่อมมีได้มากยิ่งขึ้น”
พ่อแม่ต้องฝึกอดทนอดกลั้นให้เป็น
สิ่งแวดล้อมด้านบวกที่ดีเริ่มได้จากพ่อแม่ที่ต้องรู้จักฝึกความมีสติให้ กับตัวเอง รู้จักอดทนอดกลั้นให้เป็น อย่าใช้คำพูดเสียดแทงเด็ก ถ้าทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกรัก พ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยน และสิ่งที่พ่อแม่จะต้องอดทนฝึกลูกให้รู้สึกช่วยเหลือตัวเองให้ได้ คิดแก้ปัญหาเป็น พ่อแม่ยังควรหาสื่อดีๆ หาเพื่อนที่ดีให้ลูก การให้ลูกรู้จักกับศาสนาเป็นเรื่องที่ดีที่สุด สนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมจิตอาสาซึ่งเต็มไปด้วยคนดี เมื่อลูกพบเพื่อนดีก็จะดึงไปในทางที่ดี
“กลุ่มที่เลี้ยงลูกไม่ดี แก้ไขได้ เสริมทางอื่นได้ เช่น เสริมในแต่ละวัย ตั้งต้นจากความสัมพันธ์ที่ดีก่อน ต้องปรับการมองลูก พ่อแม่มักมองลูกไม่ดี พ่อแม่ต้องลดการตำหนิ พ่อแม่ต้องปรับแนวคิดตัวเองก่อน พ่อแม่ต้องเพาะสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูก แต่โชคร้ายที่บางครอบครัวพ่อแม่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติตัวเองที่มีต่อลูก ข้อนี้โรงเรียนและคุณครูช่วยได้” พญ.สุนิดา กล่าว สำหรับครอบครัวที่มีพร้อมทุกสิ่งจนไม่ฝึกให้ลูกอดทน เลี้ยงลูกให้สบายเกินไป ปล่อยตามใจลูกมากเกินไป กลุ่มนี้คุณหมอสุนิดาก็บอกว่าต้องปรับโดยใช้ทางสายกลาง
“ในฐานะที่ดิฉันเป็นเป็นจิตแพทย์เด็ก มักเจอปัญหาการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่มีปัญหาด้านทัศนคติ พ่อแม่ต้องฝึกฟังลูก เข้าใจลูกก่อน ดิฉันอยากฝาก 3 ข้อในการเลี้ยงลูก คือ รักให้ถูก พอเหมาะ และกฎเกณฑ์ต้องมี กล่าวคือ ฝึกให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ให้ได้อย่างเหมาะสม ยุคนี้เราอยากฝึกให้พ่อแม่มีหัวใจของการเป็นพ่อแม่ การเป็นพ่อแม่คนไม่ยาก แต่เป็นพ่อแม่ให้เป็นนี่ยากกว่า เราต้องปลูกฝังให้คนเป็นพ่อแม่ต้องเรียนรู้เรื่องพัฒนาการเด็ก คนไทยโชคดีที่มีหลักศาสนาเราสอนให้คนมีเมตตา กรุณา มีใจเป็นกลาง พอลูกทำอะไรไม่ดี ปรับแก้ วางใจให้ไม่ให้หงุดหงิดฝึกแก้ปัญหาไป จะคนรวยคนจนมีปัญหาการเลี้ยงลูกหมด การเป็นพ่อแม่คนนี่ยาก ต้องใช้ทักษะเข้าใจเด็กค่ะ”
เด็กที่ผูกพันกับแม่ มีแนวโน้มเติบโตเป็นเด็กดี
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กที่ไปร่ำเรียนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.แอนนี่ เลิศอัษฎมงคล ดีกรีปริญญาโทและเอก สาขาจิตวิทยาการให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยแห่งซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเธอเป็นผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษา เลิฟ อิงลิช สคูล และสถาบัน Baby Language Thailand By DBL ดร.แอนนี่ กล่าวว่า ตามทฤษฎีฝรั่งให้ความสำคัญกับเด็กในช่วง 012 เดือนเช่นกัน และยืดเวลาออกไปถึงอายุ 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พ่อแม่จะต้องเติมเต็มความรักในหัวใจเด็กให้เต็มที่
“ช่วงวัย 0-12 เดือน ทฤษฎีฝรั่งกล่าวว่า มนุษย์เราเกิดมาเป็นสิ่งที่อ่อนแอที่สุดในโลก ไม่สามารถคลานไปหาอาหารกินได้เหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ พ่อแม่คือคนสำคัญที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นมาได้ และสัมผัสแห่งความรักเหมือนเป็นน้ำหล่อเลี้ยง เติบโตงอกงามเป็นคนที่สมบูรณ์ หากเด็กวัย 0-12 เดือน ได้รับความรักเต็มที่แล้ว เด็กจะมีแนวโน้มเติบโตมาเป็นเด็กดีมากขึ้น
การวิจัยด้านจิตวิทยาเด็ก พบว่า เด็กที่ผูกพันกับแม่จะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา เด็กกลุ่มที่ผูกพันกับแม่มากๆ เพราะแม่คือสัมผัสแห่งรัก หรือคนที่รักเขาได้เท่ากับแม่ความรักที่ทารกได้รับเขาจะเติบโตมาอย่างรักคน อื่นเป็น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
“เด็กที่เติบโตแบบได้รับความรักเต็มที่ เขาจะรับรู้อารมณ์ได้เร็วกว่าคนอื่น เขาจะรู้เร็วว่าคนนี้โกรธเขาอยู่ เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูก เด็กจะไม่ทำผิด เพราะกลัวว่าคนที่เขารักจะเสียใจ ยิ่งเมื่อเด็กโตขึ้นคนรอบข้างก็จะยิ่งมีความสำคัญกับเขาไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนดีโดยนิสัย คือ ทำผิดแล้วรู้สึกละอาย ความรู้สึกจะค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวเรื่อยๆ แม้ทารกจะเล็กมาก แต่ทารกไม่ได้จดจำได้ว่าเป็นสัมผัสจากคนนี้ แต่สัมผัสความรักจะไปหล่อเลี้ยงฝังรากลึกในสมองและร่างกาย”
สำหรับทฤษฎีฝรั่งที่นำมาปรับใช้ให้เหมาะกับคนไทยนั้น พ่อแม่จะต้องศึกษาลงลึกให้ถึงแก่นที่ถูกต้อง และเลือกปรับใช้ให้เหมาะกับสังคมและบริบทของคนไทย
“ผู้ใหญ่บางคนบอกว่า อย่าอุ้มเด็กเยอะเดี๋ยวติดมือ ลูกร้องอย่าเพิ่งไปโอ๋ เด็กจะได้รู้สึกรอหรืออดทนนี่คือทฤษฎีไทย แต่ทฤษฎีฝรั่งให้อุ้ม ลูกเราอุ้มไปเหอะ การอุ้มคือสัมผัสร่างกายที่เด็กโหยหาตลอด คือสัมผัสแห่งรัก คือการเติมเต็ม เมื่อทารกร้องแม่ต้องเข้าไปอุ้ม ถ้าไม่อุ้มทารกจะคิดว่า ฉันไม่มีค่าพอให้อุ้มเลยหรือ ทารกร้องไม่อุ้มเหมือนความต้องการของเขาไม่ถูกเติมเต็ม ยิ่งวัยขวบปีแรกยิ่งต้องเต็ม เมื่อความรักเขาเต็มที่ แล้วเขาก็จะสามารถหยิบยื่นความรักให้คนอื่นได้ รักตัวเองในแบบไม่ต้องโตไปต้องให้เพื่อนยอมรับ ไม่ต้องติดยาเหมือนเพื่อน แต่ถ้าเด็กไม่รู้สึกอิ่มความรักตั้งแต่แด็ก พ่อแม่ยังไม่ยอมรับเขา เขาจะออกไปหาการยอมรับจากเพื่อน เพราะเขาหาเองไม่ได้จากบ้าน อยากให้ลูกน้อยหัดรอ แต่ไม่ใช่อายุเท่านี้ การโอ๋ไม่ใช่การตามใจ คำว่าโอ๋คือเรากำลังช่วยให้เขารู้สึกดีกับความรู้สึกไม่ดีที่เกิดอยู่ภายใน ทารกเกิดความทุกข์เขาจึงร้องไห้ โอ๋เพื่อช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น แอนนี่ให้อายุ 0-3 ขวบสำคัญ แต่ 0-12 เดือนสำคัญที่สุด อย่างทฤษฎีตะวันตกให้แยกห้องนอนตั้งแต่ลูกอายุ 3-6 เดือน แต่เมื่อพ่อแม่ไทยเลือกที่จะแยกก็ต้องยอมรับด้วยว่า ลูกเมื่อโตขึ้นเขาจะแยกครอบครัวออกไปเร็วมากๆ นะคะ”
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์