รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
โดยทั่วไปเมื่อเด็กต้องพบกับสิ่งกระตุ้นที่อาจจะทำให้เกิดความเครียด เช่น เปิดเรียนใหม่ ใกล้สอบ หรือต้องนำเสนองานหน้าชั้นเรียน ก็จะมีอาการตื่นเต้น ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกกลัวหรือกังวล ซึ่งเป็นภาวะปรกติที่พบได้ในคนทั่วไป
อาการวิตกกังวลเหล่านี้มักจะหายไปเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านลุล่วงไปแล้ว แต่หากความคิดกลัว กังวลซ้ำๆเหล่านี้ไม่หายไป หรือมีอาการวิตกกังวลมากกว่าปรกติ จนมีผลกระทบกับชีวิต เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่สามารถเรียนได้อย่างเคย สมาธิในการทำงานเสียไป ความสัมพันธ์กับเพื่อนแย่ลง มีอาการปวดหัว ปวดท้องบ่อยๆ อาจเป็นความผิดปรกติในกลุ่มโรควิตกกังวลในเด็กได้
อาการของโรค
อาการทางร่างกาย : เหงื่อแตก ใจสั่น หายใจเร็ว ปวดท้อง แน่นหน้าอก ปวดหัว นอนไม่หลับ
อาการทางใจ : ตกใจง่าย กังวลใจในการทำกิจกรรมต่างๆ การพูดหน้าชั้นเรียน การแยกจากพ่อแม่ หรือเรื่องความปลอดภัย การนอนฝันร้ายบ่อยๆ ถามย้ำซ้ำๆบ่อยๆ
การวินิจฉัยและรักษา
แพทย์จะประเมินอาการจากการถามประวัติ พูดคุยกับผู้ปกครองและเด็ก ตรวจประเมินสุขภาพจิตเพื่อวินิจฉัยและวางแผนในการให้คำแนะนำและการดูแลต่อไป
การรักษาอาจประกอบด้วย การให้คำแนะนำเบื้องต้น การทำจิตบำบัดโดยวิธีปรับความคิดและพฤติกรรมบำบัด และอาจมีการใช้ยาร่วมด้วยในบางรายที่อาการมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก
ดูแลตนเองเบื้องต้น
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที
2. เด็กควรนอนหลับพักผ่อนวันละ 9-10 ชั่วโมง
3. ฝึกการผ่อนคลาย เช่น การฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ นับ 1-10 การฝึกสมาธิ เดินจงกรม การฝึกโยคะ เป็นต้น ควรฝึกอย่างสม่ำเสมอวันละ 10-15 นาที
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา ชาเขียว กาแฟ
ที่มา : โลกวันนี้วันสุข โดย พญ.จิณห์จุฑา นิธิอุทัย และพญ.จิณห์จุฑา นิธิอุทัย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก)