ไอคิว...สร้างได้ โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร

ไอคิวสร้างได้

เดลินิวส์ : วันเสาร์ ที่ 09 กรกฎาคม 2554
โดยศูนย์ข้อมูลวิชาการ

วันก่อน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงผลสำรวจระดับสติปัญญา (ไอคิว) นักเรียนไทยครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ในเด็กนักเรียนอายุ 6–15 ปี จำนวน 72,780 คน ระหว่างเดือน ธ.ค. 2553–ม.ค. 2554 พบว่า เด็กนักเรียนไทยมีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.59 ต่ำกว่ามาตรฐานสากล (ไอคิวเท่ากับ100)จึงมีคำถามตามมาว่าไอคิวนั้นเสริมสร้างได้หรือไม่และจะต้องทำอย่างไร?
   
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ต้นทุนทางสมองของเด็กไม่ได้แตกต่างกันเมื่อตอนแรกเกิด นั่นหมายถึงว่า ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ของคุณแม่มีการดูแลสุขภาพครรภ์ที่ดี แต่ถัดจากนี้ไปต้องการกระบวนการการเรียนรู้เข้าไปเสริมต้นทุนทางสมองที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้พบว่าเด็กผู้หญิงอาจจะมีสมรรถนะหรือความสามารถที่เหนือกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อยในช่วงอายุน้อย ๆ โดยพบว่าเด็กผู้หญิงส่วนหนึ่งมีการพัฒนาการทางด้านภาษาค่อนข้างดีกว่า เด็กผู้หญิงจะพูดได้ค่อนข้างเร็วกว่าผู้ชาย คือ ตอนไม่มีภาษาเด็กก็เรียนรู้โดยไม่ใช้ภาษา แต่พอมีภาษาการเรียนรู้จะเพิ่มขึ้นมาก เช่น การรู้จักถาม เล่าเรื่อง การพูดคุย โต้ตอบ เด็กที่ภาษาพัฒนาได้ดี พอเข้าชั้นเรียนจะเริ่มได้เปรียบเพื่อน เมื่อเด็กยิ่งโตขึ้นเรื่อย ๆ ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กผู้หญิงจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ค่าเฉลี่ยไอคิวของเด็กผู้หญิงดีกว่าเด็กผู้ชาย อีกทั้งตอนโตขึ้นเด็กผู้หญิงจะมีความมุ่งมั่น ความสนใจเรื่องการเรียนรู้มากกว่าผู้ชาย ในขณะที่เด็กผู้ชายยังเล่นสนุกอยู่เลย แต่พอถึงจุดหนึ่งเด็กผู้ชายพัฒนาได้ดี ความแตกต่างจะไม่ได้ต่างกันมาก ตั้งแต่หลังช่วงชั้นประถมเป็นต้นไป
   
ความสำคัญของคุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ ตัวที่สำคัญคือโภชนาการที่จะส่งผลต่อสมองของลูก เช่น เรื่องไอโอดีนมีผลต่อการพัฒนาการของสมอง อาหารอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน สภาพแวดล้อมในครรภ์ ความไม่เครียด  ความรู้สึกผ่อนคลาย หลังคลอด ตัวที่สำคัญคือการช่วยเสริมการเรียนรู้ คือ กิน เล่น  กอด เล่า กิน คือ ต้องดูแลโภชนาการต่อเนื่องเพราะสมองเด็กต้องการอาหารที่จะไปหล่อเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นไอโอดีน ธาตุเหล็ก ซึ่งสำคัญกับเด็กมาก ส่วนการเล่นคือการที่เด็กเรียนรู้ผ่านความสนุกสนาน ดังนั้นกิจกรรมการเล่นที่มีการเคลื่อนไหว การเล่นในเชิงศิลปะ ดนตรี จินตนาการดีกับเด็กทั้งหมด กอด คือ การสัมผัสของพ่อแม่ ความอบอุ่นที่เกิดขึ้น พบว่ามีผลทำให้เด็กหลั่ง “สารเนิฟ โกรธ ฮอร์โมน” ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมอง และ เล่า นั้นเราพบว่าการอ่านหนังสือ การพูด การคุย การที่เด็กตั้งคำถามแล้วพ่อแม่ตอบ การที่เด็กรู้จักเล่าเรื่อง สรุปเรื่องจากการอ่านหนังสือด้วยกัน จะช่วยพัฒนาระบบวิธีคิดของเด็กเมื่อเขาเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป
   
การพัฒนาศักยภาพของสมองเด็กจะเริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ช่วง 3 ขวบปีแรก ช่วง10 ขวบปีแรก แต่หลังจาก 10 ขวบไปแล้วสมองเด็กจะเริ่มวางระบบการเรียนรู้ที่สะสมมาทั้งหมดไปจนถึงช่วงวัยรุ่น จากนั้นจะคงที่แล้วเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
   
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า เด็กที่เกิดมาต้นทุนเท่ากัน ระดับสติปัญญาในช่วงเริ่มต้นไม่ต่างกันมาก แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ เด็กบางคนถนัด หรือมีความสนใจในการเรียนรู้บางอย่างแต่ไม่ได้รับการส่งเสริม หรือไม่ได้รับความสนใจ เด็กก็จะเริ่มเป็นเด็กหลังห้องไม่ได้รับความสนใจจากชั้นเรียน เขาก็จะไม่สนใจชั้นเรียน โอกาสในการเรียนรู้ก็จะหายไป หลาย ๆ ครั้งพบว่าเด็กกลุ่มนี้สติปัญญาไม่ได้ต่างจากเด็กคนอื่น ๆ แต่ขาดการเรียนรู้ เด็กบางคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นเพราะว่าขาดการกระตุ้นและแรงจูงใจในการเรียนรู้ ผลการเรียนออกมาต่ำ ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มได้รับแรงจูงใจที่ดี ได้รับความสนใจ ได้รับการสนับสนุน การเรียนก็ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ สอดคล้องกับระดับสติปัญญาของเขา หลายประเทศให้ความสนใจเด็กกลุ่มนี้เพราะต้นทุนสติปัญญาไม่ได้ต่ำแต่ว่าเหมือนเราไม่ได้ทุ่มเทให้เขาได้พัฒนาเป็นไปตามวัย 
   
สำหรับเด็กอัจฉริยะ ต้องยอมรับว่ามีต้นทุนสมองของเขา โดยเฉพาะเรื่องพันธุกรรม กับความพร้อมที่เป็นต้นทุนมาก่อน หลังคลอดก็จะเป็นเด็กกลุ่มที่ได้รับสมบูรณ์ทุกอย่าง โดยมีการศึกษาพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีตั้งแต่ของเล่นที่สมบูรณ์กว่ามากเมื่อเทียบกับเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นของเล่นที่ส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ มีหนังสืออยู่ในบ้าน มีพ่อแม่ที่ดูแลให้ความสนใจ ให้หลายสิ่งหลายอย่างซึ่งเด็กอีกหลายคนไม่ได้สิ่งเหล่านี้ ดังนั้นต้นทุนที่เด็กอัจฉริยะได้จะสูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ ดังนั้นหลายประเทศก็จะให้การสนับสนุนเด็กอัจฉริยะเพิ่มเข้าไปอีกเพราะรู้ว่าต้นทุนมาดี ผลสำรวจล่าสุดตัวเลขอยู่ที่ 3.4% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 2%
   
ส่วนกลุ่มที่มีระดับสติปัญญาบกพร่องผลสำรวจล่าสุดอยู่ที่ 6.5% นั้น ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากเรื่องไอโอดีน โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่น่าจะแก้ไขปัญหาและป้องกันได้ อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องอุบัติเหตุทางสมองในช่วงวัยแรก ๆ ของชีวิต เหมือนกับว่าเด็กเกิดมามีต้นทุนทางสมองเท่ากัน แต่การดูแลที่ไม่ระมัดระวังทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งน่าจะป้องกันได้ กลายเป็นว่าไปลดทอนต้นทุนทางสมองที่เขามี หรือในเด็กบางคนขาดโอกาสในการเลี้ยงดูแบบครอบครัว การกอดจากพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ไปทำงานห่างไกล ทอดทิ้งโดยพบว่า สถานการณ์ที่เด็กถูกเลี้ยงดูจากปู่ย่าตายายเยอะมากในขณะนี้ หรือถูกเลี้ยงโดยคนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องก็เยอะ หรือการอพยพย้ายถิ่นกันมาก เด็กตามพ่อแม่ไปเรื่อย ๆ ย้ายโรงเรียนเป็นว่าเล่น  การเล่นก็เช่นกันเด็กนอกเขตเมืองจะขาดการเกื้อหนุนในสิ่งเหล่านี้มาก คือ อยากจะเล่นก็เล่นอะไรไปตามธรรมชาติ แทบจะไม่เจออะไรที่กระตุ้นการเรียนรู้ กระตุ้นพัฒนาการ  นอกจากนี้ในเรื่องของภาษาพบว่าเด็กไทยเริ่มมีปัญหาเรื่องภาษา อาจจะเป็นเพราะความใกล้ชิด การอยู่กับพ่อแม่ที่พูดคุยเล่าเรื่องกับเด็กน้อยลง ใช้เวลากับเขาน้อยลง.       

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

 

  View : 4.14K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,801
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,772
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 25,179
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,830
  Your IP : 18.117.162.107