กรมสุขภาพจิต ตั้งคลินิกดูแลสุขภาพจิตผู้ปกครองเด็กพิเศษโดยเฉพาะ 3 โรคที่ป่วยมากที่สุดคือ ออทิสติก สมาธิสั้น และสมองพิการซึ่งมีปีละกว่า 30,000 คน ที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ หลังสำรวจพบมีความเครียดท้อแท้สูงถึงร้อยละ 64บางคนสามีห่างเหิน ส่งผลกระทบการดูแลเด็ก หลังได้รับบริการส่งเสริมพลังใจ พบว่า อาการเครียดลดลง ดูแลเด็กให้กินยาครบสูตรสูงถึงร้อยละ 100 เตรียมขยายผลใช้ในโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ว่า สถาบันพัฒนาการเด็กฯเป็นศูนย์เชี่ยวชาญระดับประเทศดูแลแก้ไขปัญหาเด็กทุกประเภทที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ ในปี 2560 มีเด็กเข้ารับบริการทั้งหมด 52,000 คน เฉลี่ยวันละ 300 คน กลุ่มโรคที่พบมากที่สุด คือออทิสติก ( Autistic) สมาธิสั้น ( Attention Deflict Hyperactive Disorder :ADHD ) และสมองพิการ ( Cerebral palsy) มีผู้ป่วยปีละประมาณ 30,000 คน หรือเกือบร้อยละ 60 ของผู้ป่วยทั้งหมด แนวโน้มผู้ป่วยมากขึ้น ได้ให้ปรับปรุงแผนกผู้ป่วยนอกให้มีสภาพคล้ายกับบ้าน ลดขั้นตอนบริการเพื่อลดแออัด และเพิ่มหอผู้ป่วยพิเศษ เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองพักระหว่างฟื้นฟูสมรรถภาพด้านสุขภาพ กาย ใจ จิตสังคม และสติปัญญา เตรียมพร้อมให้เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันหรือเข้าสู่ระบบการศึกษาตามศักยภาพต่อไป
อย่างไรก็ดี เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพ่อแม่ครอบครัว เนื่องจากต้องคอยช่วยเหลือเด็กทุกด้านในชีวิตประจำวันตลอดเวลา จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าครอบครัวทั่วไปทั้งภาระการดูแลเด็ก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการพาเด็กเข้าๆออกๆโรงพยาบาล ความไม่เข้าใจกัน ทะเลาะ หย่าร้างกัน หรือมีภาวะซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ ผลสำรวจของสถาบันพัฒนาการเด็กฯพบว่าผู้ปกครองเด็กป่วยจิตเวช 3 โรคนี้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 64 เช่นนอนไม่หลับ กังวลใจ และมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 58 เช่นท้อแท้ ซึมเศร้า เบื่อหน่ายลูก บางรายสามีห่างเหิน บางครอบครัวเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวพบมากถึงร้อยละ 22 เป็นต้น ผู้ปกครองที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะมีผลต่อการดูแลลูกและประสิทธิภาพการรักษา จึงมีนโยบายให้เปิดคลินิกดูแลสุขภาพจิตผู้ปกครองเด็กพิเศษควบคู่ไปด้วย ซึ่งผลการดำเนินการพบว่าได้ผลดี ช่วยให้ผู้ปกครองคลายความเครียด และส่งผลให้การดูแลเด็กดีขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเด็กโรคสมาธิสั้นมากกว่า 2 ใน 3 มีโอกาสหายขาด หรือมีสมาธิควบคุมตนเองดีขึ้น ได้ให้สถาบันฯจัดเป็นหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรในเรื่องนี้ เพื่อขยายผลใช้ในโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง ซึ่งจะส่งผลให้เด็กป่วยโรคจิตเวชได้รับการดูแลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทางด้านแพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเด็กราชนครินทร์กล่าวว่า ในการจัดบริการส่งเสริมดูแลสุขภาพจิตให้พ่อแม่ครอบครัวของเด็กพิเศษนี้ จะรับผู้ปกครองในรายที่มีปัญหาทางสังคมจิตใจที่คลินิกต่างๆไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ หรือในรายที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนเช่นมีภาวะซึมเศร้าหรือมีความเครียดในระดับรุนแรง มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย เพื่อบำบัดทุกข์เพิ่มความเข้มแข็งทางใจให้ผู้ปกครอง ตลอดจนการให้คุณค่าความสำคัญของตนเองต่อลูก ในภาพรวมนั้นผู้ปกครองเด็กออทิสติกจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ปกครองเด็กสมาธิสั้น ปัญหาหลักของผู้ปกครองเด็กออทิสติก คือเครียด เบื่อหน่าย ท้อแท้ที่เด็กไม่พูด พูดไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ทำตามคำสั่งไม่ได้ กรีดร้องเสียงดังไม่นิ่ง ขับถ่ายทุกที่ที่อยากถ่าย เด็กทำร้ายตนเอง อาการของลูกไม่ดีขึ้นอย่างที่ต้องการ สามีห่างเหิน ไม่ช่วยดูแลลูก และเครียดจากรายได้ไม่พอ
ส่วนปัญหาหลักของผู้ปกครองเด็กโรคสมาธิสั้น คือวิตกกังวลผลการเรียนของลูก เครียดเรื่องเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่ง ไม่รับผิดชอบเอาแต่ใจตัวเอง ไม่อยากไปโรงเรียน และมีปัญหาสัมพันธภาพกับคนอื่น หลังจากที่ผู้ปกครองได้รับบริการดูแลด้านจิตใจแล้ว พบว่าสามารถให้การดูแลการกินยาของเด็กดีขึ้นชัดเจน เด็กกินยาตามแพทย์สั่งได้สูงถึงร้อยละ 100 ส่วนเด็กสมองพิการ สามารถเข้าสู่ระบบโรงเรียนร่วมหรือการศึกษาพิเศษเฉพาะทางร้อยละ 96 จนถึงขณะนี้มีผู้ปกครองได้รับการดูแลแล้ว 300 คน โดยสถาบันฯจะเผยแพร่วิธีการดูแลสุขภาพจิตผู้ปกครองเด็กพิเศษนี้ ในงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ซึ่งจะจัดในต้นเดือนสิงหาคม 2561 นี้ด้วย
******* 8 เมษายน 2561