กรมสุขภาพจิต ประยุกต์แนวทางการดูแลต่อเนื่องในชุมชนสำหรับผู้บกพร่องทางสติปัญญาโดยใช้หลักการดูแลแบบรอบด้านและครบวงจร

กรมสุขภาพจิต เผยการดูแลต่อเนื่องแบบครบวงจรในผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาเป็นสูตรสำเร็จของการพัฒนาผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาให้กลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนและมีความสุข  ยึดแนวทางการดูแลแบบครบวงจรหรือ Comprehensive Care  โดยมุ่งเน้นผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาเป็นศูนย์กลาง   ส่งผลให้ครูและผู้ปกครองเด็กสามารถดูแลจัดการพฤติกรรมที่บ้านและที่โรงเรียนได้ดีขึ้นร้อยละ 70  และยังส่งผลให้เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ยาวนานขึ้นกว่าร้อยละ 90  

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ในส่วนภารกิจของกรมสุขภาพจิตด้านตรวจ วินิจฉัย บําบัด รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้บกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งมีสถาบันราชานุกูล เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มุ่งเน้นเน้นการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถผู้บกพร่องทางสติปัญญา ให้สามารถอยู่ในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี   โดยที่ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา มักมีปัญหาเกือบทุกด้านในชีวิตประจําวัน  มีปัญหาการเรียนรู้   เนื่องจากภาวะ สมองหยุดพัฒนา หรือพัฒนาไม่สมบูรณ์ทําให้เกิดความบกพร่องของทักษะด้านต่างๆ การดูแลผู้บกพร่องกลุ่มนี้ จึงเป็นการดูแลที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพราะพวกเขาไม่สามารถสื่อความต้องการได้ด้วยคําพูดหรือท่าทาง ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนว่าตนเองเป็นอะไร หรือต้องการอะไร ด้วยเหตุนี้หน่วยงานจึงยึดแนวทาง “การเยี่ยมบ้าน” เพื่อนําองค์ความรู้ และวิธีการดูแลการส่งเสริมพัฒนาการ ไปให้ครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้ และปฏิบัติกับผู้มีปัญหาได้อย่างถูกต้อง แต่เดิมการเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญายังไม่ครอบคลุมในทุกมิติ คือ ดูแลเฉพาะด้านสุขภาพ ได้แก่ การประเมินสัญญาณชีพน้ำหนัก ส่วนสูง ความสะอาดของร่างกาย และพัฒนาการ  ไม่มีการกําหนดสมรรถนะของทีมเยี่ยมบ้าน การส่งต่อในเชิงระบบในพื้นที่ไม่ชัดเจน ทําให้ไม่สามารถติดตามข้อมูลผู้บกพร่องได้อย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาโปรแกรมการเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาแบบครบวงจร (Comprehensive Care) มีจุดมุ่งหวังให้ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  อันจะส่งผลดีต่อการกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนของตนเองได้อย่างมีความสุข  ซึ่งจากการใช้โปรแกรมการเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาแบบครบวงจร (Comprehensive Care) นี้ พบว่า จากการดำเนินงานในปี 2559-2561 ส่งผลให้ครูและผู้ปกครองเด็กสามารถดูแลจัดการพฤติกรรมที่บ้านและที่โรงเรียนได้ดีขึ้นร้อยละ 70  และยังส่งผลให้เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ยาวนานขึ้นกว่าร้อยละ 90  นับเป็นความสําเร็จด้านการพัฒนาศักยภาพและความสามารถผู้บกพร่องทางสติปัญญาที่สามารถใช้เป็นโมเดลของการดูแลผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเพื่อกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ

แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อํานวยการสถาบันราชานุกูล เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมการเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาแบบครบวงจร (Comprehensive Care) ว่า ประกอบด้วย 5 มิติ คือ มิติที่ 1 ด้านสุขภาพ (Health) เป็นการดูแลภาวะการเจ็บป่วยของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ในเรื่องความ เจ็บป่วยในปัจจุบัน โรคแทรกซ้อน การรับประทานยา ภาวะโภชนาการ การดูแลสุขภาพภายในช่องปาก มิติที่ 2 ด้านการทําหน้าที่ (Function) เป็นการส่งเสริมพัฒนาการ ให้ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา สามารถทํากิจวัตรประจําวัน ได้แก่ การดูแลตนเอง การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การทํางานบ้าน และการเดินทางในชุมชน ตลอดจนการจัด กิจกรรมที่เตรียมพร้อมในการเรียนและการเล่นที่เหมาะสม มิติที่ 3 ด้านสมรรถนะทางสังคม (Social competence) การดูแลและฝึกให้ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาสามารถปฏิบัติตามกฎกติกา อดทนรอคอย ควบคุมตนเอง แสดงออกพฤติกรรม และมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเหมาะสม มิติที่ 4 ด้านการเปลี่ยนผ่าน (Transition) เป็นการดูแลและฝึกผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาให้มีพัฒนาการการเปลี่ยนผ่านตามช่วงวัยอย่างเหมาะสม และมิติที่ 5 ด้าน บริบท (Contextual) เป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวมีความตระหนักและสามารถทําหน้าที่ตามบทบาทของตนอย่างเหมาะสม เข้าใจและยอมรับความเจ็บป่วยของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา รับรู้ปัญหา และการมีเครือข่ายทางสังคมของสมาชิกในครอบครัวเพื่อขอรับการช่วยเหลือ รวมทั้งการพัฒนาระบบการส่งต่อทั้งในและนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มีความชัดเจน เอื้อต่อติดตามข้อมูลผู้บกพร่องได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

* * * * * * 5 ตุลาคม 2561

 

 

  View : 3.07K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,301
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,324
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,965
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 873,133
  Your IP : 18.117.101.250