กรมสุขภาพจิต ย้ำ ไบโพลาร์ รักษาได้ อยู่ร่วมสังคมได้

         วันนี้ (29 มี.ค.59) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้มอบหมายให้ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา และคณะ            เปิดบ้านศรีธัญญา จัดกิจกรรมเนื่องในวันไบโพลาร์โลก ประจำปี 2559  เผยผู้ป่วยไบโพลาร์ รักษาได้ อยู่ร่วมสังคมได้ กำลังใจสำคัญ อยู่ที่ญาติและครอบครัว  
          นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ ช่วยลดตราบาปทางสังคมที่มีต่อโรคนี้ ซึ่ง โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลก ประมาณ ร้อยละ 1-2 ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก และด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาจากโรคไบโพลาร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต จึงได้มอบหมายให้ รพ.ศรีธัญญา เป็นเจ้าภาพในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดตราบาปทางสังคมที่มีต่อโรคนี้ ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการเข้าถึงบริการ โดยได้ย้ำว่า ไบโพลาร์สามารถรักษาและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป ที่ต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมทั้ง ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง
          รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ไบโพลาร์ สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือติดตามดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 80-90% กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีญาติเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นโรคไบโพลาร์ มีวงจรการกิน การนอนที่ผิดปกติ มีเหตุการณ์พลิกผันของชีวิต ตลอดจนมีการใช้สารเสพติด การรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด ทั้งนี้ ผู้ป่วย ญาติ และสังคม จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรนั้น จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกับโรคและการรักษา โดย ผู้ป่วยเอง ก็ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด ดูแลตัวเอง ห้ามอดนอน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ห้ามใช้สารเสพติด สุรา แอลกอฮอล์ และ อย่าเครียด ขณะที่ ญาติและคนใกล้ชิด ก็ต้องดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามแผนการรักษา รวมทั้ง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ ให้กำลังใจ และมีการสื่อสารที่ดีในครอบครัว  ตลอดจน สังคม ก็ต้องเข้าใจ ให้โอกาส และลดอคติ มองผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ต่างจากจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการรักษาและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323  ตลอด 24 ชั่วโมง
           ด้าน นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวว่า จากข้อมูลของงานเวชสถิติฝ่ายแผนงานและสารสนเทศโรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต พบว่า ผู้ป่วยไบโพลาร์มาใช้บริการมากขึ้นทุกปี ล่าสุด ปี 2558 เป็นผู้ป่วยนอก 9,172 ราย มากกว่า ปี 2557 ที่มีจำนวน 9,051 ราย และ 8,797 ราย ในปี 2556 ขณะที่เป็นผู้ป่วยใน 450 ราย ในปี 2558 จำนวน 433 ราย ในปี 2557 และ  368 ราย ในปี 2556 โดย ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์แปรปรวนที่ผิดปกติแตกต่างกันอย่างเห็น  ได้ชัดในลักษณะที่แตกต่างกันคนละขั้ว ได้แก่ อารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ ในช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้า(Depression)  ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร เชื่องช้า ลังเล ตัดสินใจไม่แน่นอน ไม่มั่นใจตัวเอง คิดช้า ไม่มีสมาธิ รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า และมีความคิดฆ่าตัวตาย ส่วนในช่วงที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ (Mania)  ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดี คึกคัก มีกำลังวังชา ขยันกว่าปกติแต่ทำได้ไม่ดี นอนน้อยลง พูดคุยทักทายผู้อื่น แม้แต่กับคนแปลกหน้า พูดมาก พูดเร็ว กิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายเปลือง เชื่อมั่นตนเองมาก ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิดฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่นจนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้ ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องร่วมกันหลายประการ เช่น ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และพันธุกรรม รวมทั้ง ยังพบว่า ปัจจัยที่กระตุ้นที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ คือ ความเครียดจากเหตุการณ์ในชีวิตและสิ่งแวดล้อม การสอบตก การเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ปัญหาด้านการเงิน  การเจ็บป่วย การสูญเสียหรือเกิดความล้มเหลวในชีวิต และการอดนอนบ่อยๆ  ทำให้ผู้ป่วยบางราย  ไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ สูญเสียคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา 
         สำหรับการดูแลรักษา นั้น มีหลายรูปแบบ ซึ่งจะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ก้าวร้าว  มีอาการทางจิตรบกวนคนในครอบครัวและญาติ ควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ แต่การรักษาโดยทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ตามลักษณะอาการของโรค คือ ระยะเฉียบพลันและระยะยาว การรักษาในระยะเฉียบพลัน (Acute Phase) จะแบ่งออกเป็น ภาวะเมเนีย (Mania episode) จะรักษาโดยการใช้ยาเพื่อช่วยลดความรุนแรง ทั้งยาที่ทำให้อารมณ์คงที่ร่วมกับยาต้านโรคจิต หรือยากันชักร่วมกับยาต้านโรคจิต ขณะที่ ภาวะซึมเศร้า (Depressive episode) จะยังคงใช้ยาทำให้อารมณ์คงที่ หรือใช้ยากันชัก เช่นเดียวกับในภาวะเมเนีย โดยมีการใช้ยาต้านเศร้าร่วมด้วย และใช้ยาต้านโรคจิตในรายที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย ส่วนการรักษาด้วยกระแสไฟฟ้า (ECT.) จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตมากหรือมีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง    จนมีโอกาสฆ่าตัวตายได้ ส่วนการรักษาในระยะยาว (Maintenance Phase) คือ การลดความถี่ของการเกิดระยะเฉียบพลัน เพิ่มความสามารถของผู้ป่วยในการดำเนินชีวิต ป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย โดยการส่งเสริมให้ผู้ป่วยร่วมมือในการรักษาระยะยาว รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการทำจิตสังคมบำบัด ที่มีความสำคัญอย่างมากในการทำให้ผู้ป่วยร่วมมือ ลดความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าว  
 
**************** 29 มีนาคม 2559

ความรู้เรื่องโรคอารมณ์สองขั้ว.pdf

  View : 6.59K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 245
 เมื่อวาน 1,525
 สัปดาห์นี้ 307
 สัปดาห์ก่อน 11,600
 เดือนนี้ 48,527
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 841,178
  Your IP : 18.188.13.127