กรมสุขภาพจิต รวม11องค์กรจับมือป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยร้าย “พนันบอลออนไลน์” ศึกบอลโลก 2018 คาดขณะนี้มีเยาวชนติดพนันกว่า 3 ล้านคน เตือน!เด็กที่ติด จะเป็น“ ผีพนัน”ตลอดชีวิต! เพราะสมองขาดคันเบรก !!

วันนี้ ( 9 มีนาคม 2561 ) โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างผู้บริหาร 12 หน่วยงาน ในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ ในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ,กรมการปกครอง ,กรมกิจการเด็กและเยาวชน, กรมสุขภาพจิต ,สำนักงาน กสทช. , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,สำนักงานกองทุนเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ,สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย 
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็ก เยาวชน สื่อ และสุขภาพ มีความเป็นห่วงปัญหาการเล่นการพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลนัดเช่นฟุตบอลโลก ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงวันที่ 12 มิถุนายน -13 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุดในประเทศ พบว่า ในช่วงปี 2555-2559 มีรายงานว่าเล่นการพนันผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งมักมีการนำเสนอข้อมูลชักชวนเล่น พร้อมทั้งการกระตุ้นการเล่นผ่านสื่อต่างๆ การพนันออนไลน์ที่เด็กและวัยรุ่นนิยมสูงที่สุดคือการทายผลฟุตบอลออนไลน์ รองลงมาคือคาสิโนออนไลน์ โดยในรอบ 1 ปีระหว่างพ.ศ.2558-2559 ปรากฏว่ามีเว็บไซต์เล่นพนันออนไลน์มากถึง 213,000 เว็บไซต์ จึงทำให้เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงใหญ่ที่จะติดพนันเนื่องจากเข้าถึงง่ายและเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา เพียงมีอุปกรณ์เช่นมือถือ แทปเล็ต และคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ส่วนใหญ่มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ซึ่งยากต่อการควบคุม ผลสำรวจในปี 2558 มีคนไทยเล่นการพนันร้อยละ 52 หรือประมาณ 27.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักพนันที่อยู่ในวัยเด็กและเยาวชนประมาณ 3.1 ล้านคน และยอมรับว่าตนเองติดพนันประมาณ 207,000 คน

เด็กและเยาวชนที่เล่นพนันจะมีผลกระทบทั้งการเรียน ก่อหนี้สิน ไปถึงขั้นก่ออาชญากรรม มีปัญหาสุขภาพ ความเครียด จากการวิเคราะห์ปัญหาในช่วงฟุตบอลยูโร พ.ศ. 2559 เด็กที่เล่นพนันทายผลบอล มีหนี้สินเฉลี่ย 2,016 บาท ร้อยละ 21 เสียการเรียน ร้อยละ 11 มีความเครียดมาก ผู้ที่เล่นการพนันจนถึงขั้นเสพติด ถ้าไม่ได้เล่นจะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย ร่างกายอ่อนแอ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการติดยาเสพติด 6 เท่า ติดเหล้า 5 เท่า เสี่ยงสูบบุหรี่ 3-10 เท่า มีความรุนแรงและใช้อาวุธ 6 เท่า มีภาวะซึมเศร้าและโอกาสฆ่าตัวตายสูงขึ้น 4 เท่า 
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ประกอบ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การสื่อสารและสร้างความตระหนักสังคม โดยเฉพาะผลกระทบจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน การประชาชนสัมพันธ์สายด่วนแจ้งเบาะแส 2.มาตรการป้องกัน เพื่อลดผลกระทบจาการพนันฟุตบอลออนไลน์ สนับสนุนการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนพร้อมเครือข่ายต่างๆในการทำกิจกรรมป้องกัน 3.มาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉาะในร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต และ 4. มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการพนันฟุตบอลออนไลน์

นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ดูแล ปกป้องเด็กและเยาวชน จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการพนันออนไลน์ ที่จะเล่นการมากในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก กอปรกับ คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การปกป้องเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ และมอบหมายให้กรม ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆเพื่อขับเคลื่อนมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชน การลงนามความร่วมมือ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการดำเนินงานในการส่งเสริมการรู้เท่าทัน และการปกป้องเด็กและเยาวชน ให้ปลอดภัยจากพนันฟุตบอลออนไลน์ โดยในส่วนของกรม ฯ มีกลไกศูนย์ประสานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ หรือ COPAT สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีครบทุกตำบล จะเป็นกำลังหลักในการรณรงค์สร้างความตระหนักจากผลกระทบการพนัน ได้เป็นอย่างดี

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตเลิกพนัน 1323 ส่วนมากจะเป็นปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง คือมีส่วนน้อยที่โทรมา ปัญหาที่โทรของรับคำปรึกษามากที่สุดร้อยละ 46 คือพนันบอล รองลงมาคือไพ่ ไฮโล พบร้อยละ 27 เป็นผู้ใหญ่อายุ 22-59 ปีร้อยละ 71 เป็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-21 ปี ร้อยละ 11 ในช่วงฟุตบอลยูโร 2016 มีผู้โทรปรึกษาเพิ่มสูงกว่าช่วง ฟุตบอลโลก 2014 ถึง 8 เท่าตัว คนที่เป็นนักพนันอยู่แล้วจะหันมาเล่นพนันบอลด้วยพบในกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าเยาวชน สำหรับผลในการบำบัดผู้มีปัญหาติดการพนัน ในกลุ่มของผู้ใหญ่พบว่าร้อยละ 30 สามารถเลิกได้ มีร้อยละ 5 ที่กลับไปติดซ้ำ ส่วนกลุ่มในเยาวชนพบว่าสามารถเลิกได้ร้อยละ 9 และกลับไปเล่นการพนันและติดซ้ำร้อยละ 5

“ เรื่องที่น่าห่วงที่สุด พบว่าเด็กและเยาวชนที่ติดการพนัน จะบำบัดได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เด็กจะขาดความยับยั้งชั่งใจ เนื่องจากสมองส่วนหน้า ( Prefrontal cortex) ซึ่งเกี่ยวกับการคิดการตัดสินใจด้วยเหตุผลซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคันเบรค ยังไม่พัฒนาเท่าผู้ใหญ่ ขณะที่สมองส่วนหลังซึ่งเกี่ยวข้องกับความอยาก เปรียบเสมือนเป็นคันเร่งพัฒนาไปก่อน เด็กจึงห้ามตัวเองไม่ได้ ใครชวนไรก็ไปหมด เด็กจึงหันไปติดพนันซ้ำได้ง่าย หากติดตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีโอกาสเป็นผีพนันตลอดชีวิต เพราะสมองส่วนหน้าจะไม่พัฒนาอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องการเลิกพนันร้อยละ 80 สามารถรักษาให้หายได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับทิศทาง กลุ่มแผนงานด้านการลดปัญหาจากการพนัน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันพบว่า ปี 2558 มีคนไทยจำนวนถึง 2 ล้านคนที่เล่นพนัน ทายผลฟุตบอล คาดประมาณมีเงินหมุนเวียนในการพนันทายผลฟุตบอลสูงถึง 136,125 ล้านบาท การเล่นพนันนั้นถือว่าเป็นพฤติกรรมเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาวะ และความมั่นคง เช่น ปัญหาหนี้สิน ถูกทำร้าย ความรุนแรงในครอบครัว และก่ออาชญากรรม สสส.จึงสนับสนุนภาคี ทั้งด้าน วิชาการและภาคประชาสังคมเพื่อศึกษาสถานการณ์การพนัน และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สร้างและพัฒนาศักยภาพแกนนำ นักรณรงค์ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการพนันเพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและสื่อสารสังคมให้สังคมตระหนัก รู้เท่าทันถึงผลกระทบด้านสุขภาวะจากปัญหาการพนันที่เกิดขึ้น ลดและป้องกันการเกิดนักพนันหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า การลงนามใน MOU ของ 11 องค์กรในวันนี้ นับเป็นมิติใหม่ของการทำงาน เพราะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก ซึ่งมีทั้งการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยของพนันฟุตบอลออนไลน์ การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของพนันฟุตบอลออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชน การเพิ่มบทบาทของสภาเด็กและเยาวชนและเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการสร้างความตระหนักและการเฝ้าระวัง สร้างกลไกและประสานข้อมูลเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแสการพนันฟุตบอลออนไลน์

ทั้งนี้ในปี 2559 ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ได้สำรวจพฤติกรรมการรับชมและการเล่นพนันทายผลฟุตบอลยูโร 2016 ในกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายและอาชีวศึกษา 3,832 ตัวอย่างใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ เชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี ราชบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยสำรวจ 2 ช่วงเวลาคือ ก่อนการแข่งขันและหลังการแข่งขัน ผลการสำรวจพบว่า ก่อนแข่งขันมีกลุ่มที่ตั้งใจเล่นการพนัน 57% แต่เมื่อเริ่มแข่งขันแล้วมีการเล่นการพนันถึง 80% ที่น่าห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างที่ตอนแรกจะไม่เล่นการพนันแต่หันมาเล่นการพนันมีถึง 8% เนื่องจากถูกกระตุ้นและจูงใจโดยสื่อ และยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 43.7 ยอมรับว่ามุ่งเล่นพนันแบบได้เสีย วงเงินพนันเฉลี่ยจากเดิม 1,879 บาทต่อคู่ เพิ่มขึ้นเป็น 3,123 บาทต่อคู่ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างยังยอมรับว่า ใช้ข้อมูลจากช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก เคเบิลทีวี เว็บพนันกว่าร้อยละ 91.5 มาประกอบการเล่นพนัน ที่น่ากังวลอีกคือพฤติกรรมเสี่ยงขณะรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ทานอาหารฟาสต์ฟูดและดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น ***************************************** 9 มีนาคม 2561

 

 

  View : 2.06K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,557
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,528
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 24,935
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,586
  Your IP : 3.149.254.180