พ่อแม่หลายคนกลุ้มใจที่ลูกชาย หรือ ลูกสาว มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากเพศของตัวเอง บางคนก็ทำใจยอมรับได้ แต่บางคนนอกจากไม่ยอมรับแล้วยังด่าทอ แถมลงไม้ลงมือกับลูก ส่งผลให้สัมพันธภาพภายในครอบครัวมีปัญหา ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ ลูก ที่กำลังเผชิญสภาพแบบนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำค่ะ
พญ.พรรณพิมล บอกว่า การที่ลูกมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศสาเหตุอาจเกิดจากปัจจัยทางกายภาพร่วมกับสภาพแวดล้อมบางอย่าง เช่น การเลี้ยงดู ทั้งนี้พ่อแม่อาจสังเกตเห็นพฤติกรรม ในขณะเดียวกันลูกบางคนก็ยอมรับว่ามีพฤติกรรมเบี่ยงเบน
เมื่อพ่อแม่รับรู้ส่วนใหญ่เครียด กังวลใจ ยอมรับได้ยาก และมีพฤติกรรมรุนแรงกับลูก เช่น ตี เตะลูก ทำร้ายร่างกาย ด่าด้วยถ้อยคำรุนแรงจนไม่เหลือความเป็นมนุษย์ บางคนไล่ลูกออกจากบ้าน ซึ่งการกระทำดังกล่าวยิ่งทำให้ลูกถูกกดดันและถูกผลักออกจากครอบครัว
คำแนะนำ คือ พ่อแม่ต้องคิดทบทวนว่าเป้าหมายที่มีต่อลูกนั้นคืออะไร ซึ่งเป้าหมายหลักของพ่อแม่ส่วนใหญ่ คือ อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี ประสบความสำเร็จ ดังนั้นต้องมาทบทวนว่าจะดูแล สนับสนุนลูกอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะเด็กกลุ่มนี้มีแรงกดดันจากสังคมมากอยู่แล้ว เท่ากับโอกาสของลูกเสียไป แต่ถ้าพ่อแม่คิดได้จะทำให้ใจสงบ สัมพันธภาพก็ดีขึ้น มีการปรับตัวเข้าหากัน ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้มักมีศักยภาพบางอย่างติดตัวมา ถ้าพ่อแม่ดูแลเขาดี เขาอาจแสดงศักยภาพให้เห็น แต่ถ้าไปคิดว่าทำไมเป็นแบบนี้ จะเปลี่ยนลูกได้อย่างไร ยิ่งทำให้เรื่องมันยุ่งยากมากขึ้น
พ่อแม่ควรอยู่กับเขาด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ไปเปลี่ยนใจเขา ซึ่งบางครอบครัวยอมรับได้ แต่บางครอบครัวไม่ยอมรับแต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างตัวเองกับลูก ถือว่าพ่อแม่ได้ใช้ความพยายาม และทำหน้าที่ดูแลลูกต่อไปได้
วัยรุ่นมักจะมองว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจเขา แต่ถ้าพ่อแม่ยอมเปิดพื้นที่เล็ก ๆ ให้กับเขา เด็กไม่ต้องการอะไรมาก แค่เหลือความเป็นพ่อแม่ลูกกันอยู่เหมือนเดิม ไม่ถึงกับรังเกียจ ทำร้ายเขา ท้ายที่สุดเด็กกลุ่มนี้จะพยายามทำบางอย่างชดใช้ให้ เช่น เลี้ยงดูพ่อแม่เป็นอย่างดี มีความสุข ไม่ลำบาก เพราะไม่สามารถมีทายาทสืบสกุล แต่งงานมีหลานให้พ่อแม่ได้ เมื่อเขาให้ในสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังไม่ได้ เขาก็อยากทำหน้าที่ลูกในส่วนที่เขาทำได้อย่างเต็มที่
คนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนควรบอกพ่อแม่หรือให้พ่อแม่รู้เอง? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า อยากให้คุยกัน อย่างที่บอก เด็กกลุ่มนี้มีช่วงระยะเวลาที่มีความสับสน ไม่สบายใจ บางช่วงอ่อนไหว ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเขา ดังนั้นพ่อแม่น่าจะเป็นที่ที่เขาคุยได้ เป็นคนที่ให้คำแนะนำกับเขาได้ ให้เขาไว้วางใจได้มากที่สุด คือ เรื่องแบบนี้ส่วนใหญ่จะพอรู้ เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครเปิดปากพูดขึ้นมา บางทีก็รู้เป็นนัยโดยไม่ต้องพูด พอเวลาผ่านไปก็เป็นที่เข้าใจว่ามันเป็นแบบนี้ หมอเจอมาก็มีทั้ง 2 แบบ คือ เจอทั้งครอบครัวที่นั่งคุยกัน บางครอบครัวไม่คุยแต่เห็นพัฒนาการของลูกไปเรื่อย ๆ ก็เข้าใจ ส่วนใหญ่พ่อแม่จะเป็นฝ่ายพูดว่า จะเอายังไงกับชีวิต แล้วชีวิตจะไปยังไงต่อ เป็นการแสดงความเป็นห่วงลูก
การพาลูกไปพบจิตแพทย์เหมาะสมหรือไม่? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่อยากให้ไปด้วยกันทั้งพ่อแม่ ลูก ไปแล้วอยากให้ทำความเข้าใจกัน อยากบอกว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีที่พึ่ง หรือมีที่ปรึกษามากนัก เขาก็ปรึกษาเพื่อนที่เป็นคล้าย ๆ กัน และแก้ไขปัญหากันเอง ถามว่าไปพบจิตแพทย์แล้วจะเปลี่ยนลูกได้หรือไม่ อาจเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น คือ เด็กบางคนมีช่วงเวลาที่สับสน แต่ท้ายที่สุดเขาจะค่อย ๆ เลือกว่าต้องการอะไรกันแน่ อย่างบางคนแปลงเพศไปแล้วใช้ชีวิต 10-20 ปีอยากกลับมาตั้งต้นใหม่ก็มี คือ ถ้าพ่อแม่พยายามจะเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เขาเป็นอยู่ก็ลำบากด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเข้าใจซึ่งกันและกัน หันหน้ามาพูดคุยกัน
นวพรรษ บุญชาญ เดลินิวส์ออนไลน์