กรมสุขภาพจิต เดือนประชาชน ระวัง! เครียดการเมือง

เผยแพร่โดยฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล

  กรมสุขภาพจิตห่วงประชาชนเครียดกับการเมือง จนอาจส่งผลให้เกิดโรคเครียดทางการเมืองได้ แนะรับข้อมูลข่าวสารให้พอดี ไม่ควรติดตามต่อเนื่องเกิน 2 ชม. ลดการรับข่าวสารที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ หาวิธีคลายเครียดทั้งออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์

  นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ระหว่างรอฟังผลการพิจารณาของวุฒิสภาต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ความตึงเครียดทางการเมืองย่อมเกิดขึ้น ซึ่งผลการพิจารณาจะออกมาเป็นเช่นไรนั้นย่อมมีคนที่พอใจและไม่พอใจอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้นประชาชนต่างมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เราคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง

  ทั้งนี้ การคาดการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจะยิ่งทำให้เราวิตกกังวลและเครียด อาจส่งผลให้เกิดโรคเครียดทางการเมืองได้ (Political Stress Syndrome : PSS) โดยมีอาการ ดังนี้ อาการทางกาย ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขนขา นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

  ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ชาตามร่างกาย อาการทางใจ ได้แก่ วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป และปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว

  โดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้ มีการเอาชนะทางความคิดแม้กับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพ เกิดการใช้กำลังและความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งความเครียดลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่ม ทั้งผู้ชุมนุม นักการเมือง ผู้ติดตามข่าวสาร และกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิต

  สำหรับผู้ที่มีความเครียดรุนแรงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดอารมณ์รุนแรงนั้นลง ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

1. บริหารเวลาให้เหมาะสม โดยแบ่งเวลาในการติดตามข่าวสารบ้านเมือง การดูแลครอบครัว การทำงาน และการพักผ่อน สำหรับการติดตามข่าวสารไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 ชม. หรือ ควรติดตามจากคนใกล้ชิดแทน

2. ลดการรับข้อมูลข่าวสาร จากสื่อที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ เช่น สื่อที่ให้ข้อมูลด้านเดียวหรือสื่อที่มีภาพและเสียงที่เร้าให้เกิดอารมณ์รุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้ มีความเครียดทางการเมืองและความเครียดสูง ควรรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่สะท้อนความคิดที่หลากหลาย และมุ่งเน้นการหาทางออก

3. ควรมีวิธีการลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย สวดมนต์ ทำสมาธิ หายใจคลายเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

สำหรับการช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนในชุมชนหรือสถานที่ทำงานที่มีความเครียดทางการเมืองสูง ให้มีความสงบเพิ่มขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติ รับฟัง ชื่นชม ห่วงใย ให้คำแนะนำ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. รับฟัง การลดอารมณ์รุนแรงทางการเมืองไม่อาจกระทำได้ด้วยการโต้แย้งด้วยเหตุผล เนื่องจากแต่ละคนที่มีความเครียดทางการเมืองรุนแรงจะยึดถือในความเชื่อของตนเอง ดังนั้น การโต้แย้ง จึงไม่ช่วยสร้างความสงบ ขณะเดียวกัน การหลีกเลี่ยงไม่พูดคุย ก็ไม่ได้ช่วยลดอารมณ์ลง ทางที่ดีที่สุด คือ การรับฟัง ด้วยความเห็นใจว่าเขามีความเครียด โดยเข้าใจว่าการรับฟังจะช่วยให้คนเราสงบลง

2. ชื่นชม การที่มีความเครียดทางการเมืองรุนแรง ล้วนเริ่มต้นจากความรักในบ้านเมือง ความหวังดีต่อสังคม เพียงแต่ความขัดแย้งมาจากการให้ความสำคัญในประเด็นที่ต่างกัน ดังนั้นจึงควรแสดงความชื่นชมในประเด็นที่ดีของเขา ก็จะทำให้เกิดการยอมรับกัน และนำไปสู่ความไว้วางใจ และช่วยให้เขาอารมณ์เย็นลงได้

3. ห่วงใย คือ การแสดงความเป็นห่วงใยต่อสุขภาพและภาพพจน์ของผู้มีความเครียดทางการเมืองรุนแรง เพื่อช่วยให้เขากลับมามองตนเอง รวมทั้งเป็นห่วงตนเองและผลที่จะเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดด้วย

4. ให้คำแนะนำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำหรับผู้ทีมีความเครียดทางการเมืองรุนแรง แต่ควรมาลำดับท้ายสุด โดยให้คำแนะนำตาม 3 วิธีข้างต้น

ในระดับสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดอารมณ์ทางการเมืองที่รุนแรงในสังคมลงด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้ สื่อและผู้เกี่ยวข้องจะต้องลดการนำเสนอข่าวในส่วนที่สร้างความโกรธ ความเครียดของคู่ขัดแย้งและเพิ่มการเสนอข่าวของฝ่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากคู่ขัดแย้ง ข่าวที่ทำให้เข้าใจคนแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันและเสนอข่าวที่มุ่งเน้นการหาทางออก

เครือข่ายสังคมในอินเทอร์เน็ตควรลดความรุนแรงในการแสดงอารมณ์และความคิดเห็นการแสดงออกในสื่อใหม่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขาดการควบคุมตนเองเนื่องจากไม่ต้องแสดงตน แต่จะส่งผลกระทบให้เกิดบรรยากาศของสังคมที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การสื่อสารในเครือข่าย Internet จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการออกความคิดเห็น ไม่ส่งต่อความคิดเห็นที่รุนแรงออกไป รวมทั้งช่วยกันตักเตือนการแสดงออกที่รุนแรง

"ทุกคนสามารถช่วยให้สังคมไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ด้วยการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แสดงเจตจำนงการให้แก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่สร้างความโกรธ ความเกลียดชัง ลดการเผชิญหน้า และร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ"

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตพร้อมให้คำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำเตือนและข้อปฏิบัตินี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้คนในสังคมไทยกับมาดูแลใจตนเองและคนใกล้ชิด เพื่อบรรเทาวิกฤติ และสร้างความสุขให้กับสังคมไทยต่อไป

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 


  View : 2.60K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,114
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,137
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,778
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,946
  Your IP : 17.241.227.13