กรมสุขภาพจิต เร่งเยียวยา เด็กประสบภัยแผ่นดินไหว

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

         "กรมสุขภาพจิต" เร่งเยียวยาจิตใจเด็กประสบภัยแผ่นดินไหว หลังพบเด็ก 1 ใน 3 ในศูนย์พักพิงส่อเค้าโรค PTSD หรือภาวะเครียดกังวลสะสม...
        นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากรายงานการเยียวยาจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ในพื้นที่ อ.แม่ลาว และ อ.พาน จ.เชียงราย โดยทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ หรือ MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) เด็กของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เด็กๆ ที่ประสบภัยก็ได้รับผลกระทบด้านจิตใจด้วยเช่นกัน
จากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือในศูนย์พักพิง คาดว่า น่าจะมีเด็กมากกว่า 50% ได้รับผลกระทบ โดยทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ได้ดำเนินกิจกรรมใน 2 รูปแบบ คือ การสาธิตการเยียวยาจิตใจเด็กด้วยการทำกลุ่มประเมิน (Assessment & Treatment Group) แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ตลอดจนร่วมวางแผนกับทีมในพื้นที่ เช่น สาธารณสุขอำเภอทั้ง 2 แห่ง รพ.พาน รพ.แม่ลาว และ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์
          ในศูนย์พักพิงชั่วคราววัดบ้านห้วยส้านยาว ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย มีประชาชนพักอาศัยอยู่ 30 ครอบครัว ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบบ้านเรือนเสียหายทั้งหมด และมีเด็กอยู่ในศูนย์พักพิงแห่งนี้ จำนวน 35 คน ซึ่งได้ประเมินและให้การช่วยเหลือทั้งหมด 30 คน อีก 5 คน สอบถามผู้ปกครอง เนื่องจากเป็นเด็กเล็กมาก ทั้งนี้ ในจำนวน 30 คน เป็นเด็ก ป.4 – ม. 2 จำนวน 12 คน และเป็นเด็กเล็กตั้งแต่ ป.3 ลงมา จำนวน 18 คน
จากการประเมินพบว่า เด็ก ป.4 – ม. 2 จำนวน 7 ใน 12 คน มีการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ ความคิด และพฤติกรรม ได้แก่ ฝันร้ายซ้ำไปซ้ำมาตลอด ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ เช่น ฝันว่าเสาไฟล้มทับ มีคนเสียชีวิต เป็นต้น มีการปัสสาวะรดที่นอน ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่กล้าทำภารกิจส่วนตัวตามลำพัง ต้องมีคนไปเป็นเพื่อน ตกใจง่าย "แค่ได้ยินเสียสตาร์ทรถก็ตกใจ ใจสั่น" และกังวลว่าจะไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะโรงเรียนพัง ขณะที่เด็กเล็ก จำนวน 3 ใน 18 คน มีพฤติกรรมซึมลง ติดผู้ดูแล และร้องไห้งอแง ซึ่งทีม MCATT ได้ให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ รวมทั้งถ่ายทอดวิธีการประเมินเด็กโดยผ่านกิจกรรม นิทาน การเล่น และเรื่องเล่า และส่งรายชื่อเด็กให้ รพ.แม่ลาว เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
        อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ อ.พาน ทีม MCATT ได้ร่วมวางแผนกับสาธารณสุขอำเภอ และเจ้าหน้าที่ รพ.แม่ลาว พบว่า ปัจจุบันประชาชนในศูนย์พักพิง ได้กลับไปที่บ้านของตนเอง แต่ไม่กล้าเข้าบ้าน เพราะยังมีความกลัวอยู่ เด็กๆ ก็แยกย้ายกันไป จึงยังไม่ทราบว่ามีเด็กจำนวนมากน้อยเพียงใด
         ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทีม MCATT สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์จะทำแนวทางการสังเกตอาการของเด็ก ให้กับเจ้าหน้าที่ รพ.พาน นำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุชุมชน เพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองร่วมกันสังเกตเด็ก รวมทั้งเปิดช่องทางให้ติดต่อเข้ามาที่โรงพยาบาล ตลอดจนร่วมวางแผนการส่งต่อและการช่วยเหลือเด็กกับทีม MCATT ผู้ใหญ่ รพ.สวนปรุง รพ.แม่ลาว รพ.เชียงรายฯ รพ.พาน และ สสอ. ในพื้นที่ต่อไป
พร้อมกันนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะแนวทางการสังเกตและแนวทางการดูแลเด็กที่ประสบภัยตามระดับอายุของเด็ก ดังนี้
1. เด็กแรกเกิด ถึง 3 ขวบ (ก่อนอนุบาล) การแสดงออกจะเป็นด้านพฤติกรรม เนื่องจากยังไม่สามารถใช้ภาษาได้ดี เด็กจะมีปัญเรื่องการดูดนม การรับประทาน การนอน ร้องงอแง เกาะติด หรือแยกตัว มีอาการถดถอย ไม่ยอมทำอะไรด้วยตนเอง เป็นช่วงเวลาที่ต้องเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดเรื่องความเป็นอยู่ การพักผ่อน การโอบกอด และการเล่น
2. เด็กอายุ 4-11 ขวบ (ชั้นอนุบาล - ป.5) เด็กมีอาการแสดงออกคล้ายกับในเด็กแรกเกิดถึงสามขวบ แต่มีความสามารถทางภาษา เด็กจะซึมเศร้า แยกตัว นอนละเมอ ฝันร้าย/กรีดร้องกลางดึก พฤติกรรมถดถอยเป็นเด็กต่ำกว่าวัย ก้าวร้าว/อาละวาด จึงควรพูดคุย รับฟังสิ่งที่เด็กต้องการจะเล่า ดูแลให้เด็กเข้าสู่กิจวัตรประจำวัน อดทนต่อการถดถอยของเด็ก ความสามารถในการขับถ่าย ฝึกฝนให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองอย่างที่เคยทำได้
3. เด็กอายุ 12-14 ปี (ชั้น ป.6 - ม.2) เด็กจะมีพฤติกรรมแยกตนเอง ไม่สนใจกิจกรรมร่วมกับครอบครัว ไม่ค่อยพูด/เงียบ ผิดจากปกติ หงุดหงิด/ฉุนเฉียวง่าย ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว มีอาการทางกายที่เป็นสาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ ฝันร้าย เป็นต้น สิ่งที่ควรสังเกต คือ เด็กคิดอย่างไร เพราะเด็กวัยนี้อาจรู้สึกผิด มีความกังวล รู้สึกว่าตนเองไม่ได้ทำอย่างที่ควรจะทำ ดังนั้น นอกจากการพูดคุยเพื่อช่วยเหลือด้านจิตใจแล้ว ยังสามารถใช้งานศิลปะในการระบายความรู้สึกในบางช่วงด้วย
อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนใช้เวลาในการผ่านช่วงเวลากระทบกระเทือนทางใจไม่เท่ากัน โดยทั่วไปไม่เกิน 3 เดือน หากเด็กยังคงมีลักษณะแยกตัว ไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างที่เคยทำ หวาดกลัว เกาะติดคนอื่น มีปัญหาทางอารมณ์กับคนรอบข้าง แสดงว่าผลกระทบรุนแรง ต้องรีบพาพบแพทย์ทันที
พร้อมกันนั้น ยังได้แนะนำพ่อแม่ หรือผู้ทำหน้าที่ดูแลเด็กว่า ต้องไม่ลืมที่จะดูแลจิตใจตนเอง ภาวะทางจิตใจของพ่อแม่จะช่วยให้ลูกมั่นใจว่า ครอบครัวสามารถควบคุมสถานการณ์กลับมาได้แล้ว ครอบครัวเข้าสู่ระบบปกติได้เร็วเพียงใด เด็กก็จะได้รับการฟื้นฟูจิตใจได้เร็วเช่นกัน ยกเว้นเด็กที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ก็จำเป็นต้องส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ
ที่สำคัญ ควรดูแลเด็กไม่ให้รับรู้ข่าวสารจากสื่อมากเกินไป โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การเห็นภาพซ้ำๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว วาดภาพความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากแม้ไม่สามารถปิดกั้นเด็กจากข้อมูลข่าวสารได้ ก็ควรจะดูร่วมกัน ให้คำอธิบาย หากเด็กมีปฏิกิริยา ท่าทาง หรืออารมณ์ขณะชมภาพ ต้องสัมผัสและให้ความรู้สึกปลอดภัยกับเด็กในทันที เช่นเดียวกับเด็กที่ไม่ได้ประสบภัย พ่อแม่ก็ควรพูดคุย และอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลูกฟังด้วยเช่นกัน อย่ามัวแต่ติดตามข่าวอย่างเคร่งเครียดจนลืมไปว่าลูกรับข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไปสำหรับวัยของเขา.

ไทยรัฐ


  View : 2.36K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,183
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,206
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,847
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 873,015
  Your IP : 3.144.227.73