สธ. ชูบริการ Health Care Package เพื่อสุขภาพเด็กและสตรี การันตี ผลงาน Child First-Work Together
วันนี้ (24 มิ.ย.56) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สธ. แถลงข่าว ร่วมกับ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ภายหลังเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 2 และการประชุมวิชาการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ครั้งที่ 10 ดูแลเด็กทุกวัย ดูแลจิตใจหญิงทุกคนณ รร.แอมบาส ซาเดอร์ กทม.เผย จัดบริการชุดสุขภาพ Health Care Package ให้กับเด็กและสตรีทุกกลุ่มวัย เพื่อ สุขภาพดี อย่างเป็นรูปธรรม การันตี ผลงาน Child First-Work Together (CF-WT) รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 สหประชาชาติ สาขา การให้บริการประชาชน (United Nations Public Service Awards 2013) เน้น ดูแลเด็กให้มีพัฒนาการสมวัย คัดกรองเร็ว พบเร็ว กระตุ้นพัฒนาการได้เร็ว ตั้งเป้า เด็กไทย IQ เต็ม 100 EQ ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กออทิสติกและสมาธิสั้น เข้าถึงบริการ 25%
รมช.สธ. กล่าวว่า จากรายงานสุขภาพจิตแม่และการพัฒนาสุขภาพจิตเด็กของ องค์การอนามัยโลก พบว่า สตรีทั่วไปเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ประมาณ 5% ขณะที่ สตรีตั้งครรภ์มีความเจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ 8-10% และอาจสูงถึง 13% ภายหลังที่คลอดแล้ว นอกจากนี้ พบว่า ในประเทศไทย อัตราการเข้าถึงบริการของเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ/ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ยังมีน้อย เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญามีการเข้าถึงเพียง 33,592 คน หรือประมาณ 5.23% และเป็นเด็กออทิสติก 7,212 คน หรือประมาณ 12.02% ของประชากรเด็ก ดังนั้น สตรีและเด็กจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
รมช.สธ. กล่าวต่อว่า จากแนวคิด โครงการ Every Woman Every Child ของสหประชาชาติ ที่เห็นถึงความจำเป็นในการดูแลเด็กและสตรี โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การมีครรภ์คุณภาพ เพื่อให้สตรีมีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูลูกให้เติบโตตามวัยกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการสร้างรูปแบบและระบบการดูแลสุขภาพเด็กและสตรีขึ้น ในรูปแบบ ชุดสุขภาพ (Health Care Package) ซึ่งเป็นการจัดบริการให้แต่ละกลุ่มวัย ทั้งบริการพื้นฐานทั่วไป และบริการส่วนที่มีปัญหา เพื่อกำหนดเป้าหมาย สุขภาพดี ให้เป็นรูปธรรม ในกลุ่มอายุ 0-6 ปี ดูแลหญิงตั้งครรภ์ และพัฒนาเด็กให้สมวัย
รมช.สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดบริการ ประกอบด้วย 1. ชุดสุขภาพพื้นฐาน(Basic Health Package) ดูแลกลุ่มสตรี ตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ในคลินิก และเด็กที่มารับบริการตรวจพัฒนาการ โดยกรมสุขภาพจิตดำเนินงานร่วมกับกรมอนามัย จัดทำแบบประเมินความเครียดและภาวะซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการ ขณะที่เด็กที่มารับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะประเมินพัฒนาการด้วยแบบประเมินอนามัย 55 กรณีมีพัฒนาการสมวัยจะให้คำแนะนำผู้เลี้ยงดู ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย กรณีมีพัฒนาการสงสัยล่าช้าจะให้คำแนะนำผู้เลี้ยงดู ส่งเสริมพัฒนาการในทักษะที่เด็กทำไม่ได้ ด้วยคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด-5 ปี สำหรับผู้ปกครอง เป็นเวลา 1 เดือน แล้วนัดมาประเมินซ้ำ 2. ชุดสุภาพเฉพาะ(Sub package) ให้การดูแลเด็กและสตรีกลุ่มเสี่ยง กรณีที่เด็กมีปัญหาพัฒนาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะประเมินพัฒนาการเด็กและแก้ไข โดยใช้คู่มือประเมินและแก้ไขพัฒนาการเด็กแรกเกิด-5ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและวางแผนการดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มแม่วัยรุ่นที่มีปัญหา กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมจัดทำมาตรฐานการดำเนินงานคลินิกให้การดูแลทางสังคมจิตใจ (Psychosocial Clinic) ในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุข สามารถให้คำปรึกษากลุ่มแม่วัยรุ่นที่มีปัญหาได้
พร้อมทั้งให้การดูแลเด็กและสตรีกลุ่มที่ป่วย กรณีเด็กมีปัญหาพัฒนาการยุ่งยากซับซ้อน เจ้าหน้าที่ใน รพช. จะส่งต่อให้รับบริการที่ รพท. หรือ รพศ. โดยกระทรวงสาธารณสุขพัฒนามาตรฐานการจัดบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก สำหรับเครือข่ายบริการสุขภาพ 12 เขตบริการ จัดบริการเด็กที่ป่วยด้วย 4 โรคหลัก ประกอบด้วย ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก สมาธิสั้น และเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ใน รพศ. ทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2557 จะขยายบริการไปถึงระดับ รพช. ส่วนเด็กกลุ่มโรคจิตเวชจะได้รับการส่งต่อเพื่อดูแลในโรงพยาบาลจิตเวชต่อไป
การดำเนินการดังกล่าว จะมีการขยายผลไปจนสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เพื่อให้เด็กไทย มีระดับสติปัญญา หรือ IQ=100 มีความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ รวมทั้ง เด็กออทิสติกและสมาธิสั้น สามารถเข้าถึงบริการได้ ร้อยละ 25 รมช.สธ.กล่าว
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า กรมสุขภาพจิต ได้พยายามคิดหาวิธีที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้ง ค้นคว้าหาแนวทางที่จะส่งเสริมคุณภาพและศักยภาพของเด็กปฐมวัย ให้มีพัฒนาการสมวัยรอบด้าน โดยได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการดูแลสุขภาพด้านร่างกายและจิตใจเด็กปฐมวัยตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ โดยให้หญิงตั้งครรภ์มีการเฝ้าระวังภาวะเครียด ซึมเศร้า และการดื่มสุรา เนื่องจาก ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาดังกล่าวแล้วจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทั้งนี้ จะได้รับการประเมินภาวะเครียด ซึมเศร้า และการดื่มสุราทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ตามมาตรฐานการฝากครรภ์คุณภาพ จำนวน 5 ครั้ง พร้อมทั้ง ได้จัดทำ คู่มือ ครรภ์คุณภาพ : คู่มือการดูแลจิตใจตนเองสำหรับสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด ที่ดำเนินการร่วมกับกรมอนามัย ซึ่งได้เพิ่มเรื่องซึมเศร้าและสุราเข้าไปด้วย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กจะได้รับการเฝ้าระวังด้านพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ โดยครูศูนย์เด็กเล็กจะประเมินพัฒนาการเด็กภาคเรียนละ 1 ครั้ง และประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็ก ปีละ 1 ครั้ง ถ้าเด็กมีปัญหาพัฒนาการจะส่งต่อหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อให้การช่วยเหลือตามระบบต่อไป ส่วนครูศูนย์เด็กเล็กจะต้องมีการประเมินความเครียดด้วยตนเองปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากการดูแลเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญ ละเอียดอ่อน ครูผู้ดูแลจึงต้องมีสภาพจิตใจที่พร้อมจะปฏิบัติงานเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ตามศักยภาพ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ในเรื่อง Happy family จะเน้นการดูแลพัฒนาการ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่แนวโน้มพัฒนาการไม่สมวัยหรือมีความเสี่ยง ซึ่งล่าสุด กรมสุขภาพจิต โดย สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 United Nations Public Service Awards 2013 จากสหประชาชาติ ประเภทรางวัล การพัฒนาการให้บริการประชาชน จากผลงาน Child First-Work Together (CF-WT) ที่มีจุดมุ่งหมายให้เด็กได้รับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการสมวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง โดยการพัฒนากระบวนการคัดกรอง ประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ทั้งการพัฒนาเครื่องมือที่มีมาตรฐาน พัฒนาคน พัฒนาการสื่อสาร ความร่วมมือ ระบบ และนโยบาย จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เด็กไทยได้รับการคัดกรอง ซึ่งทุกคนสามารถช่วยกันได้ ทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพราะการค้นพบที่เร็วจะช่วยทำให้มีการวางแผนและกระตุ้นพัฒนาการของเด็กได้เร็วและเกิดประสิทธิผลมากขึ้น ช่วยลดภาระครอบครัว สังคม ชุมชน ตลอดจนค่าใช้จ่าย ที่สำคัญ เด็กจะมีพัฒนาการสมวัย สามารถเรียนรู้ พัฒนา ทั้งด้านร่างกาย และสติปัญญา เป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป ทั้งนี้ จะเดินทางไปรับรางวัล โดย รมช.สธ. ณ ประเทศบาห์เรน ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้
ด้านการพัฒนาสุขภาพจิตในวัยเรียน-วัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพ และพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ให้มีการจัดบริการสุขภาพจิตและบริการให้คำปรึกษา อีกทั้ง ในครึ่งปีหลังของปี 2556 จะเชื่อมโยงเทคโนโลยีแต่ละกรมที่เกี่ยวข้อง พิจารณา Gap โดยเฉพาะปัญหาทางเพศของวัยรุ่น (Sexual Health) เพื่อผลักดันให้เกิดการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนกำหนดนโยบายให้มีความร่วมมือในระดับพื้นที่ ซึ่งการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จะมุ่งไปที่อุปกรณ์การป้องกันการตั้งครรภ์ที่หาง่าย และการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาที่ตามมาภายหลังการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากวัยรุ่นตั้งครรภ์แล้ว จะมีแนวทางในการส่งเสริมให้เด็กที่คลอดออกมามีคุณภาพด้วย รวมทั้ง ร่วมมือและเกาะติดปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทที่เป็นวาระแห่งชาติ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นทั้งพร้อมและไม่พร้อม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาแรงงานเด็ก และปัญหาค้ามนุษย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
**************************
www.dmh.go.th