บทบาทสื่อในการยุติความรุนแรงในเด็กและสตรี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีงานสัมมนาเรื่อง “บทบาท “สื่อ” ในการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” จัดโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อหาทางออกต่อการนำเสนอและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อในยุคปัจจุบันที่ดูเหมือนจะตกเป็นจำเลยของสังคมในเรื่องการผลิตซ้ำความรุนแรงและมีส่วนต่อการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในสังคมมากขึ้น
เริ่มจากแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัจจุบันเด็กไทยอยู่กับสื่อมากกว่า 3 ชั่วโมง ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะสื่อมีการตอกย้ำถึงความรุนแรงซ้ำๆ ในชีวิตประจำวันจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ รวมไปถึงความคุ้นชินกับความก้าวร้าว เช่น กรณีเด็กตีกันบ่อยครั้งจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งสังคมต้องตระหนักแล้วว่าจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปหรือไม่ เราจะปล่อยให้ความรุนแรงต่อคนอื่นกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมหรือไม่
“เราจะเห็นว่าประโยคที่เขียนในรายการบางรายการว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม ประเด็นคือวิจารณญาณของแต่ละคนไม่เท่ากัน ต้องขึ้นอยู่กับวัยและประสบการณ์ด้วย”
ทางด้านนายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าสื่อมีอิทธิพลที่สุดที่จะสะท้อนได้ทั้งด้านดีและด้านลบในเรื่องของความรุนแรง ดังนั้น บทบาทของสื่อไม่ใช่เพียงเป็นแค่กระจกสะท้อนสังคม แต่ควรมีบทบาทเป็นสะพานถ่ายทอดความรู้ถึงผลกระทบของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และสื่อควรจะมีบทบาทให้ความรู้ด้วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันรายการบางรายการเป็นเรื่องการส่งเสริมความรุนแรงไปซะเอง เช่น การกระโดดตึก การที่เอาภาพเหตุการณ์จริงที่เด็กไล่ยิงกัน มีเสียงหวีดร้องมาออกอากาศ จึงคิดว่าสื่อควรจะมีวิจารณญาณให้มากกว่านี้
ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่าถ้าต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจังควรให้ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ ผู้ผลิตละคร รายการเกมโชว์ต่างๆ และนักโฆษณาที่นำเสนอหรือสื่อให้เห็นเกี่ยวกับความรุนแรงเข้าร่วมการประชุมเสวนาด้วย เพื่อสอบถามถึงเหตุผลของการผลิตรายการหรือสนับสนุนรายการที่ทำลายสังคม และควรให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคุ้มครองเด็กได้แจ้งความดำเนินคดีกับสื่อและผู้ที่นำเด็กซึ่งอาจตกเป็นผู้กระทำผิด หรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาแถลงข่าวออกสื่อ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและผิดกฎหมายคุ้มครองเด็กและกฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
ส่วนนายพิริยะ ทองสอน เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน กล่าวว่าเกมออนไลน์ที่บ่มเพาะความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการให้เด็กสะสมแต้มด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการบ่มเพาะให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หน่วยงานต่างๆ ควรมีส่วนร่วมเข้ามาดูแลและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากเด็กกำลังเสพเกมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
อีกประการหนึ่งที่คิดว่าจะมีส่วนช่วยลดความรุนแรงได้ต้องใช้มาตรการทางสังคมเข้ามากดดันด้วย เช่นการไม่ซื้อสินค้าที่ให้การสนับสนุนรายการที่ไม่เหมาะสม ในต่างประเทศ มาตรการนี้ใช้ได้ผลมาแล้ว แต่ในบ้านเรายังไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันทุกภาคส่วน
“ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับตัวเอง ผมเป็นโปรแกรมเมอร์มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี มีองค์กรขนาดใหญ่ที่ว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษา ล่าสุดมีองค์กรขนาดใหญ่ต้องการจะจัดซื้อคอมพิวเตอร์ ผมก็จัดหามาทั้งหมด 3 ยี่ห้อ ในสเปคและราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่ผมเสนอยี่ห้อที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมเป็นลำดับแรก แม้จะราคาแพงกว่ากันเล็กน้อย แต่พอเรานำเสนอเหตุผล เจ้าของกิจการก็เข้าใจแล้วก็เลือกยี่ห้อนั้น ถ้าคนในสังคมพยายามใช้วิธีคิดและให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สินค้าที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ก็จะทำให้บรรดาผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวด้วย กรณีของสื่อที่ไม่เหมาะสม เราก็ต้องไม่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไปสนับสนุนรายการที่ไม่ดี”
คนสุดท้ายคือคุณรัตนากร ทองสำราญ รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการที่ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ โดยมีประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ปี 2556 ขึ้นมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการเพื่อให้ได้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับลักษณะรายการ สัดส่วนรายการและกระบวนพิจารณาผังรายการเพื่อใช้ในการบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งขณะนี้เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับเนื้อหารายการอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ซึ่งเนื้อหารายการต้องเชื่อมโยงกับประกาศดังกล่าวด้วย และในอนาคต กสทช.มีโครงการปรับปรุงพัฒนาคู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ แต่ประชาชนก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลด้วย
ข้อสรุปในวันนั้นมีประเด็นใหญ่ๆ ก็คือ การกระตุ้นให้สื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม ขณะเดียวกันภาคประชาชนต้องตระหนักว่าเรื่องสื่อมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็งร่วมต่อต้านสื่อที่มีความรุนแรงโดยการไม่ซื้อสินค้าที่สนับสนุนรายการที่ไม่เหมาะสมหรือทำร้ายสังคม

ประเด็นสุดท้าย การบังคับใช้กฎหมายต้องเคร่งคัด และเอาผิดกับผู้ที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และการกระทำผิดที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม

ปัญหาเรื่องสื่อไม่ใช่เรื่องที่สังคมจะปล่อยผ่านหรือดูดาย เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งตรงถึงลูกหลานของเราเต็มๆ ต่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองปลูกฝังลูกมาดีก็ตาม แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมยุคนี้ ข้อมูลสื่อสารมันได้วิ่งทะลุเข้าไปถึงตัวเด็กและเยาวชนโดยตรง ถ้าเราปล่อยให้เด็กและเยาวชนเสพแต่สื่อที่เต็มไปด้วยความรุนแรงจนกลายเป็นความเคยชิน เราจะได้ผู้ใหญ่แบบไหนในอนาคต คงต้องนึกภาพกันเอาเองค่ะ

ผู้จัดการออนไลน์


  View : 5.76K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,546
 เมื่อวาน 1,846
 สัปดาห์นี้ 10,046
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 46,763
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 839,414
  Your IP : 51.222.253.17