ผลการสำรวจไอคิวเด็กไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น

ผลการสำรวจไอคิวเด็กไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น
 
กระทรวงสาธารณสุขชี้ไอคิวเด็กไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ไอคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 2 ใน 3 และมี 42 จังหวัดรวม กรุงเทพมหานคร ไอคิวสูงเกิน 100 ผลสำเร็จจากความร่วมมือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน และการยกระดับคุณภาพศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ มอบนโยบาย เพิ่มโอกาส สร้างความเท่าเทียม กำจัดสาเหตุปัญหาโภชนาการ เสริมภูมิคุ้มกันด้านการเลี้ยงดู สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สนับสนุนนโยบายจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
 
วันนี้(29 กรกฎาคม 2559) ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2559  กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ความฉลาดทางสติปัญญา (ไอคิว: IQ)และความฉลาดทางอารมณ์(อีคิว : EQ) เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศจำนวน 23,641 คนพบว่าเด็กมีคะแนนไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2554 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 94 เด็กไทยมีไอคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถึง 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 68 ขณะที่ เด็กจาก 42 จังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร มีไอคิว  สูงเกิน 100 ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กบางส่วนใน 35 จังหวัด ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังพบเด็กที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่องหรือต่ำกว่า 70  ถึงร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากล ซึ่งไม่ควรเกินร้อยละ 2  โดยพบเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าภาคอื่นๆ ตลอดจนยังพบว่า เด็กนอกเขตอำเภอเมือง มีระดับไอคิวเฉลี่ย 96.9 ขณะที่เด็กในเขตอำเภอเมืองมีไอคิว 101.5 และเด็กในพื้นที่ กทม. มีไอคิวเฉลี่ย 103.4 ส่วนความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก พบ เป็นไปตามเป้าหมาย ร้อยละ 77 แต่ก็ยังพบเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องการการพัฒนา ซึ่งเด็กมีปัญหาอีคิวมากที่สุดในด้านขาดความมุ่งมั่นพยายามและขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา
จากการศึกษาดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การควบคุม ป้องกันการขาดสารอาหารในเด็ก ได้แก่ เหล็ก ไอโอดีน และโฟลิก ตลอดจน การยกระดับพัฒนาศักยภาพบุคลากรศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไร     ก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาไอคิว – อีคิว คือ การอยู่ในพื้นที่ชนบท การมีรายได้ไม่เพียงพอในครอบครัว ตลอดจนสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองโดยปล่อยให้ผู้สูงอายุต้องเลี้ยงดูหรือในบางครอบครัวมีการปล่อยปละละเลยเด็ก โดยเด็กที่มีระดับไอคิวต่ำมากๆ มีแนวโน้มจะมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวต่ำร่วมด้วย ซึ่งนโยบายจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัย โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย นับเป็นอีก 1 นโยบายสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาส เอื้อต่อการพัฒนา ไอคิว อีคิว ให้กับเด็กไทยได้
กระทรวงสาธารณสุขจึงบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มโอกาส สร้างความเท่าเทียม กำจัดสาเหตุปัญหาโภชนาการ เสริมภูมิคุ้มกันด้านการเลี้ยงดู สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไอคิว อีคิว ยกระดับคุณภาพศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาศักยภาพบุคลากร ตลอดจนผู้ที่เลี้ยงเด็ก ให้มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสมกับวัย มีการฝึกวินัยที่เหมาะสมเพื่อส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มุ่งมั่นพยายาม มีคุณธรรมจริยธรรม และมีความสุขในชีวิต
ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตดำเนินการป้องกันปัญหาและส่งเสริมศักยภาพ ไอคิว-อีคิวเด็กไทยใน 3 ระดับ ดังนี้ 1.ส่งเสริมพัฒนาการในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับโดยให้ความสำคัญต่อเด็กที่มีภาวะเสี่ยงให้ได้รับการช่วยเหลือแก้ไขได้เร็วที่สุด 2.ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียน ทั้งทักษะการอ่าน การคำนวณ ผ่านกลไกการเลี้ยงดูและการเล่นที่ถูกต้องในครอบครัวและศูนย์เด็กเล็ก มีเครื่องมือที่ทุกฝ่ายจะใช้ร่วมกันในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก และ 3.การติดตามดูแลเด็กต่อเนื่องในวัยเรียนด้วยการคัดกรองปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ ออทิสติก อารมณ์และพฤติกรรม เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็ก เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะพบปัญหาดังกล่าวประมาณร้อยละ 15 โดยครูจะสามารถ คัดกรองและช่วยเหลือเบื้องต้นและพิจารณาส่งต่อระบบสาธารณสุขได้ในโปรแกรมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งในทุกพื้นที่ รวมทั้งการฝึกอบรมและเพิ่มพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง
ด้าน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กที่ขาดอาหาร โดยเฉพาะทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม  จะเป็นเด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ส่งผลให้ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยบ่อย หรือเป็นนาน และรุนแรงมากกว่าเด็กปกติ นอกจากนี้เด็กที่มีภาวะเตี้ย ยังมีผลต่อการพัฒนาสมองเป็นผลให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ ความ สามารถในการเรียนรู้บกพร่อง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เฉื่อยชา ดังนั้นกรมอนามัยจึงเฝ้าระวังเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ โดยส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ ทารก และเด็กได้รับอาหารอย่างเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณรวมทั้งการเสริมสารอาหารสำคัญให้เพียงพอ ได้แก่ เหล็ก ไอโอดีน กรดโฟลิก ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์การเจริญเติบโตเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล ซึ่งจะดำเนินการอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร           ซึ่งจำเป็นต้องเร่งให้ความช่วยเหลือและติดตามดำเนินการเป็นพิเศษ  เพื่อส่งเสริม ป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมอนามัยจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพเด็กไทย เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนถึงอายุ 18 ปี เน้นการส่งเสริมโภชนาการและการออกกำลังกาย โดยตั้งเป้าหมาย 20 ปีข้างหน้า ส่วนสูงเฉลี่ยผู้ชาย 180 เซนติเมตร และส่วนสูงผู้หญิง 170 เซนติเมตร
 

  View : 8.91K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,197
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,864
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 44,581
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 837,232
  Your IP : 18.116.20.108