สธ.แนะสังเกต 9 อาการป้องกันโรคซึมเศร้า พร้อมสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความเข้าใจ ภายใต้แนวคิด “Depression, Let’s talk : ซึมเศร้า...เราคุยกันได้”

วันนี้ (5 เม.ย. 2560) ที่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมแถลงข่าว เนื่องในวันอนามัยโลก ประจำปี 2560  (World Health Day 2017) “Depression, Let’s talk : ซึมเศร้า...เราคุยกันได้”
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า วันที่ 7 เมษายนของทุกปีเป็นวันอนามัยโลก (World Health Day) และในปี 2560นี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ คือ “Depression, Let’s talk:ซึมเศร้า...เราคุยกันได้ ”  ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคน หรือร้อยละ 4 ของประชากรโลก เป็นโรคซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง ร้อยละ 20.4 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคนหรือร้อยละ2.5ของประชากรไทย และยังพบว่าผู้หญิงเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 1.7 เท่า
 
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและรักษาโรคซึมเศร้าให้กับประชาชน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ ตลอดจนได้รับความเข้าใจจากคนในครอบครัวและชุมชน ด้วยการเข้าหา รับฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ พร้อมกันนี้ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.ลดอคติ สร้างความตระหนัก สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง 2.ลดการเกิดโรคในผู้ที่เสี่ยงโดยค้นหาและป้องกัน 3.ลดระยะเวลาและความรุนแรงโรค 4.ป้องกันการฆ่าตัวตาย และ5.ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำสำหรับสัญญาณบอกเหตุของโรคซึมเศร้ามี 9 ข้อ ได้แก่ 1.ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว 2.ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง 3.ไม่มีสมาธิ 4.อ่อนเพลีย 5.เชื่องช้า 6.รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง 7.นอนมากขึ้น หรือน้อยลง 8.ตำหนิตัวเอง และ9.พยายามฆ่าตัวตาย หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ 5 ข้อติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า
 
ด้าน นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางสุขภาพของประชากรทั่วโลก โรคซึมเศร้านั้นรักษาให้หายได้ นอกจากการรักษาจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้ว การจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลรักษาโรคซึมเศร้ายังสร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย โดยที่ทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จัดสรรเพื่อพัฒนาการรักษาโรคซึมเศร้า สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากสุขภาวะที่ดีของประชาชน และประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนไทยเกือบหนึ่งล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาโรคซึมเศร้า เนื่องจากอคติทางสังคมต่อผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากการที่ไม่ได้รับการรักษานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นและแก้ไขได้ ดังนั้น เราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกรายจะได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม
 
ด้าน นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอทางจิตใจ จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ ซึม เบื่อไม่อยากพูดหรือทำกิจกรรมเหมือนเดิม ถ้าไม่รีบรักษาอาการจะรุนแรงขึ้น จากการศึกษาวิจัยสรุปได้ว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยมีความเครียดทางสังคมจิตใจเป็นตัวกระตุ้นกลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคทางกายเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง  โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง กลุ่มหญิงตั้งครรภ์หลังคลอด  กลุ่มสูงอายุ กลุ่มติดสุราและสารเสพติด กลุ่มสูญเสียคนที่รักหรือสิ่งของที่รัก ขอย้ำว่า โรคซึมเศร้า ป้องกันได้ และหากป่วย สามารถรักษาให้หายได้การช่วยเหลือจากญาติหรือคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยการเข้าหาและยินดีช่วยเหลือ รับฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ พาไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์ ไปเป็นเพื่อนเมื่อถึงวันตรวจตามนัดดูแลให้รับประทานยาครบตามที่แพทย์สั่ง ส่วนใหญ่จะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ ดูแลการกินการนอนให้เป็นเวลาชวนออกกำลังกาย ร่วมกิจกรรมในชุมชน มองสิ่งรอบข้างอย่างมีความสุข ไม่นึกถึงสิ่งบั่นทอนจิตใจหากมีอาการมาก บอกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เก็บสิ่งที่อาจเป็นอันตรายไม่ให้มีในบ้าน เช่น เชือก ของมีคม อาวุธปืน ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง หรือยาอันตรายต่างๆ สำหรับการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ มีทั้งการรักษาด้วยยาต้านเศร้าจิตบำบัด และสติบำบัด
 
ทั้งนี้ ได้รณรงค์เผยแพร่ความรู้ ความตระหนักในการป้องกันและรักษาโรคซึมเศร้าให้กับประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์และสื่อช่องทางต่างๆ สร้างระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในระดับจังหวัดพัฒนาคุณภาพการให้บริการ จัดทำฐานข้อมูลออนไลน์เรื่องโรคซึมเศร้า (www.thaidepression.com) เพิ่มศักยภาพของบุคลากรร่วมมือกับเครือข่าย เช่น อสม. ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ทำให้อัตราการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในปี 2551 เป็น 51.49 ในปี 2560นอกจากนี้ ยังมีแผนรณรงค์สร้างความตระหนัก ป้องกันและแก้ไขปัญหาซึมเศร้า ภายใต้แนวคิด “Depression, Let’s talk : ซึมเศร้า...เราคุยกันได้”ตลอดปีนี้ เช่น กิจกรรมเดิน วิ่ง Dance ต้านเศร้า “Mental Health Mini Marathon 2017 การค้นหาและนำผู้มีภาวะซึมเศร้าและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับบริการ โดย อสม. ทั่วประเทศ การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติและสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2560 เป็นต้น" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
*****************     5 เมษายน 2560

Press Release สธ.แนะสังเกต 9 อาการป้องกันโรคซึมเศร้า พร้อมสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความเข้าใจ ภายใต้แนวคิด “Depression, Let’s talk : ซึมเศร้า...เราคุยกันได้” .pdf

  View : 20.80K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

24 เม.ย. 2556

 วันนี้ 468
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,135
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,852
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,503
  Your IP : 18.191.200.114