เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เดินหน้าแก้ปัญหาเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก เผยระยะยาวรัฐต้องมี นโยบายหนังสือและการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย 0 - 6 ปี ควบการเร่งสร้างสังคม เครือข่ายชุมชนรักการอ่านต่อเนื่อง
นางสาวสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการทดสอบคัดกรองนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ออกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 6 และพบว่ามีเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออกเกือบแสนราย รวมถึงกรณีเวทีเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งจัดอันดับปีล่าสุด 2556 2557 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าไทยอยู่อันดับที่ 78 ของโลก จาก 148 ประเทศ และอยู่อันดับที่ 8 ของอาเซียนนั้น
เกิดจากการขาดความร่วมมือและการประสานงานให้ความช่วยเหลือในการส่งเสริมการอ่านรวมไปถึงการศึกษาของเด็กไทย จนกลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังสั่งสมและยากจะแก้ไขได้ง่ายในเวลาอันรวดเร็ว และการจะหวังพึ่งระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างเดียวอย่างในปัจจุบันก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นเพื่อขจัดปัญหาให้หมดไปต้องร่วมกันดำเนินการในทุกมิติ ทั้งที่บ้านโดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่โรงเรียนโดยครู ในชุมชนโดยผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงภาคประชาสังคมในชุมชนนั้นๆพร้อมใจกันอย่างจริงจัง
ทั้งนี้แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ยังคงเดินหน้าสร้างสังคม เครือข่ายชุมชนรักการอ่าน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยปีนี้จะดำเนินการขึ้นภายในเดือนตุลาคมศกนี้ ซึ่งเป็นไปในรูปแบบการขยายผลอันเกิดจากการทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชุมชน สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคธุรกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
เพื่อทำการสรุปและถอดบทเรียนความสำเร็จในการสร้าง เครือข่ายชุมชนรักการอ่าน อย่างชัดเจน และจะนำบทเรียน ประสบการณ์ส่งเสริมการอ่าน ไปจัดทำกรอบและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านการส่งเสริมการอ่าน สำหรับผลักดันให้ภาครัฐกำหนด นโยบายหนังสือและการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการส่งเสริมการอ่านที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงต่อไปด้วย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการเรียนหนังสือด้อยประสิทธิภาพและการอ่านหนังสือไม่ออกของเด็กไทยในระยะยาว
เนื่องจากการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กวัย 0-6 ปี มีข้อมูลยืนยันแล้วว่าจะช่วยทำให้เด็กอ่านหนังสือได้โดยอัตโนมัติ ก่อนเข้าโรงเรียนเพราะสมองของเด็กในวันนี้เติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิตมนุษย์ และทำให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านติดตัวไปจนโต ช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการ มีโลกทัศน์อันกว้างใหญ่ เกิดทักษะด้านภาษาและมีอุปนิสัยที่พึงประสงค์ของสังคม