รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
ผู้ปกครองที่กำลังกลุ้มอกกลุ้มใจเพราะลูกเรียนไม่เก่ง ขออย่าเพิ่งตำหนิลูก เพราะนี่อาจเป็นอาการของ "เด็กแอลดี"หรือ "ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Leaening Disabilities: LD)
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล อธิบายว่า เด็กที่เป็นแอลดีมักแสดงออกมาทั้งด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง มีสาเหตุมาจากการทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ และความผิดปกติของโครโมโซม
"เด็กที่เป็นแอลดีมักรู้สึกหงุดหงิดเมื่อตนเองทำไม่ได้เท่าเพื่อน อย่างที่เป็นมากคือการอ่าน รองลงมาคือเขียน สมาธิในการเรียน ทำงานช้า เหล่านี้ทำให้เขารู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ และก้าวร้าวกับคนรอบข้าง ซึ่งจะพบมากในชั้นประถมศึกษาและเป็นขั้นรุนแรงในชั้น ป.3-ป.4 แยกเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 โดยมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยประมาณ 94-98"
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยเด็กได้ด้วยการยอมรับ เรียนรู้ และเข้าใจถึงปัญหาความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก ต้องไม่ตำหนิเพื่อดูแลความรู้สึกของเด็ก หากพบว่าผลการเรียนตกต่ำ ควรหันไปชื่นชมเด็กหากทำอะไรอย่างอื่นสำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ทั้งนี้ ผู้ปกครองต้องเข้าใจและช่วยเหลือเด็กแอลดีตั้งแต่เนิ่นๆ เขาจะสามารถพัฒนาไปได้ตามศักยภาพ
"กำลังใจที่ดีจะทำให้เด็กอยากกลับมาเรียนหนังสือ และทำอะไรให้ได้เท่าคนอื่น ขณะที่แอลดีใช่ว่าจะแย่เสมอไป เพราะบุคคลสำคัญของโลกหลายคนก็เป็นเหมือนกัน อาทิ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพราะถูกกล่าวหาว่าเรียนไม่ดี เข้าสังคมไม่ได้ ไม่เป็นระเบียบ สุดท้ายเป็นนักทฤษฎีฟิสิกส์ระดับโลก เช่นเดียวกับนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ และบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกหลายคน" พญ.อัมพรกล่าว สิ่งที่จะช่วยให้เด็กแอลดีไม่ถอยหลังไปกว่านี้คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ที่ช่วยให้เดินหน้าได้คือ สื่อการเรียนรู้สร้างสรรค์ ซึ่งต้องเหมาะสมและดึงดูดความสนใจ
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่เราจัดประกวดทำหนังสือเพื่อเด็กแอลดี ผ่านชื่อโครงการ "สื่ออ่าน สร้างสุข เพื่อเด็กแอลดี"เพราะกระตุ้นให้เกิดการอ่านสำหรับเด็กแอลดี เพื่อจะส่งเสริมพัฒนาการให้เหมาะสมตามวัยและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ต่อไป โดยปีนี้จัดประกวดเป็น 2 ประเภท คือ หนังสืออ่านสร้างสุข และสื่ออ่านสร้างสรรค์ ในระดับประถมศึกษา ชิงเงินรางวัลรวม 1 แสนบาท พร้อมโล่รางวัลและของที่ระลึก
เปิดรับผลงานตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.happyreading.in.th หรือโทร.0-2241-8000 ต่อ 326, 330
กรมสุขภาพจิต