สายตาสั้นในเด็กกับปัญหาต่อสมอง

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
     การมองเห็นที่ดี ส่งผลต่อประสิทธิภาพทางการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรเพิกเฉยต่อการดูแลสายตาของลูกน้อยตั้งแต่ยังเป็นทารก เพราะอาจเกิดโรคร้ายทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะถึงแม้เป็นอาการเล็กๆ น้อยๆ อย่างการสายตาสั้นในระยะแรก ก็อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้
    พญ.ขวัญใจ วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้างานจักษุวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า ความแตกต่างทางด้านสายตาหรือการมองเห็นระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่นั้นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเด็กเล็กนั้น หากเกิดปัญหา จะแก้ไขเหมือนกับผู้ใหญ่ไม่ได้
    “บางที เราอาจจะมีความสงสัยว่า ทำไมสายตาสั้นทำให้ตาบอดได้ เพราะเราก็รู้กันว่าถ้าผู้ใหญ่เกิดอาการสายตาสั้นก็ไปตัดแว่น อันนั้นก็เป็นภาวะผิดปกติของสายตาโดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ในเด็ก เนื่องจากระบบการมองเห็นในเด็กตั้งแต่แรกเกิด มันยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และจะต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุประมาณ 6 ขวบ จึงจะเป็นการมองเห็นที่สมบูรณ์เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ตามที่ทำให้เด็กไม่สามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนได้ การพัฒนาการมองเห็นของเด็กก็จะไม่เกิดด้วย เพราะพัฒนาการมองเห็นที่ว่านี้ จะประกอบด้วยปัจจัยทั้งทางด้านสายตาและสมอง ซึ่งก็คือศูนย์รับภาพการมองเห็น ถ้าพัฒนาการนี้ไม่เกิด ก็แสดงว่าเด็กคนดังกล่าวจะไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ”
     พญ.ขวัญใจ กล่าวเสริมว่า ด้วยเหตุนี้ อะไรก็ตามที่ทำให้เด็กมองภาพไม่ชัด เช่น มีโรคทางตา มีอะไรมาบัง ไม่ว่าจะเป็นต้อหินต้อกระจก หรือว่าหนังตาตก ทำให้รับภาพไม่ได้ อันนี้ก็เป็นสาเหตุ สายตาสั้นหรือยาวที่ผิดปกติ ทำให้ภาพมัว สำหรับผู้ใหญ่ ถ้าภาพมัว เมื่อใส่แว่นก็มองเห็นได้ เพราะว่าพัฒนาการการมองเห็นของคนคนนั้นสมบูรณ์ไปแล้วตั้งแต่อายุหกขวบ
     “เพราะฉะนั้น เด็กที่สายตาสั้นตั้งแต่ก่อนอายุ 6 ขวบ และไม่ได้รับการแก้ไขด้วยแว่น ก็หมายความว่าเขาเห็นภาพไม่ชัด เมื่อภาพไม่ชัดส่งเข้าไปที่สมอง สมองก็จะไม่พัฒนา และเมื่อไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะเกิดการสายตาเสียถาวร นั่นหมายความว่า หลังจาก 6 ขวบก็จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อีกแล้ว แม้ว่าจะไปใส่แว่นหลังจากนั้น ก็จะไม่สามารถกระตุ้นให้มันเกิดการพัฒนาการที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราใส่แว่นให้เด็กก่อนอายุหกขวบ เขาจะกลับมาเห็นเป็นปกติได้เลย แต่ถ้าเลยจากนั้นไปแล้ว การมองเห็นจะไม่สมบูรณ์”
    การเปลี่ยนแปลงทางสายตาของเด็กจะเกิดขึ้นทุกปีตามการเจริญเติบโต การแก้ไขภาวะสายตาสั้น ยาว หรือเอียงผิดปกติ จะกระทำเมื่อค่าทางสายตามากเกินเกณฑ์ปกติ ซึ่งแว่นตาจะช่วยให้เด็กมีระดับการมองเห็นที่ดีขึ้น และการทำเลสิกที่ใช้ได้กับผู้ใหญ่นั้น ไม่สามารถใช้ได้กับเด็กเล็ก ผู้ปกครองและครูผู้ใกล้ชิด จึงควรดูว่าเด็กมีปัญหาทางสายตาหรือไม่ และการเลือกแว่นที่เหมาะสำหรับสายตาของลูกน้อย ก็จำเป็น
    “อย่างไรก็ดี เด็กสายตาสั้น จำเป็นต้องใส่แว่นทุกคนหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่จำเป็น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสายตาสั้นว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน อันที่สองขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้สายตาของเด็ก ลำดับที่สาม ขึ้นอยู่กับระยะของการพัฒนาการทางการมองเห็น ซึ่งเราต้องดูว่ามันได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง ซึ่งถ้ายังไม่สมบูรณ์ เราต้องพยายามทำให้เด็กรับภาพให้ชัดที่สุดเพื่อให้สมองได้พัฒนาการ เพราะฉะนั้น คนที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ได้ก็คือคุณหมอซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องไปปรึกษา” พญ.ขวัญใจ กล่าว

คอลัมน์ Health Line สายตรงสุขภาพ ASTV


 


  View : 9.22K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,122
 เมื่อวาน 1,589
 สัปดาห์นี้ 5,974
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 42,691
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 835,342
  Your IP : 66.249.73.8