รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
ถึงแม้ว่าปัจจุบันสื่อโซเชียลจะเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของทุกช่วงวัย ด้วยสาเหตุที่ว่าสามารถเข้าถึงได้ง่าย พกพาสะดวก เป็นเครื่องมือใช้ฆ่าเวลายามว่าง หรือแม้แต่ใช้ดึงดูดความสนใจลูกน้อยที่กำลังงอแง แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งสื่อนั่นก็คือสื่อโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานและยังใช้สยบหนูน้อยได้อย่างราบคาบแต่รู้ไหมว่าการปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์อาจส่งผลกระทบได้โดยไม่รู้ตัว
ผู้ปกครองบางคนมักเข้าใจผิดว่าการดูโทรทัศน์จะสามารถช่วยให้ลูกได้เร็วขึ้น หรือสร้างความฉลาดให้เด็กจากรายการต่างๆ แต่จากข้อมูลของหน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กลับพบว่า เวลาเด็กดูโทรทัศน์ สิ่งที่เด็กสนใจมองจริงๆ คือ แสง สี เสียง โดยเฉพาะรายการโฆษณาที่สารมารถดึงดูดความสนใจเด็กได้มากที่สุด เหตุเพราะมีการเปลี่ยนภาพที่เร็วมาก จึงไม่แปลกใจที่พบว่าเด็กเล็กส่วนใหญ่จะสนใจและจำภาพโฆษณาได้ดี และนั่นหมายความว่าเด็กทารกไม่ได้เข้าใจความหมายอะไรในโทรทัศน์นอกจากเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเท่านั้น
ในขณะที่เด็กใช้เวลาอยู่กับทีวีนั้นพบอัตราการเปลี่ยนเสียงหรือเลียนเสียงน้อยมาก เพราะโทรทัศน์เป็นการสื่อสารทางเดียว (One-way communication) ซึ่งตามปกติแล้วการเยนรู้ทางภาษาที่ดีควรเรียนจากการสื่อสารสองทาง (two-way communication) หรือในลักษณะที่มีการโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กัน
การปล่อยเด็กเล็กให้อยู่กับโทรทัศน์นานๆ นอกจากเป็นเหตุให้เด็กต้องทนฟังเสียงที่ไม่อาจเข้าใจได้อยู่ข้างเดียวแล้ว ยังพบว่าเด็ก 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้ยังพูดไม่ได้เมื่อถึงวัยอันควร ซึ่งเด็กที่ใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นแบบอย่าง เช่น พ่อแม่ หรือคนเลี้ยง จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการได้มากกว่าเด็กที่เฝ้าดูโทรทัศน์เป็นแบบอย่าง
โทรทัศน์จึงนับว่าเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่ม และมีอิทธิพลสูงต่อเด็ก ซึ่งผลวิจัยจากกุมารแพทย์ทั่วโลกชี้ชัดว่า หากเด็กได้รับสื่อที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องเด็กจะมีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง เช่น ชอบใช้ความรุนแรงโต้ตอบ, รู้สึกหวาดกลัวสังคม, รู้สึกเคยชินกับความรุนแรง, กับสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่ได้เห็น, ความเมตตาอยากช่วยคนอื่นลดลง, และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งความคิด การกระทำ คำพูด และการแต่งกาย นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า เด็กและเยาวชนใช้เวลาดูโทรทัศน์โดยเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง ทำให้เด็กๆ ซึมซับพฤติกรรมและค่านิยมที่ไม่เหมาะสมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากวิจารณญาณยังน้อย
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วพ่อแม่ ผู้ปกครองคงจะเริ่มให้ความสนใจต่อการดูโทรทัศน์ของลูกมาขึ้นแล้ว เราจึงมีวิธีดูแลลูกๆ กับการดูโทรทัศน์มาแนะนำพ่อแม่ เมื่อลูกมีพฤติกรรมติดโทรทัศน์มากจนเกินไป สำหรับผู้ปกครองของเด็กวัยประถมปลาย สิ่งที่จะช่วยให้เด็กดูโทรทัศน์น้อยลงหรือเลือกดูรายการอย่างเหมาะสมนั้น ผู้ปกครองต้องมีความอดทนในการค่อยๆ ปรับพฤติกรรมและสร้างทางเลือกให้เด็ก เช่น....
1.หาวิธีการที่นุ่มนวลในการลดเวลาดูโทรทัศน์ของเด็ก เช่น ค่อยๆ คุยถึงผลเสียของการดูโทรทัศน์มากเกินไป ลดจำนวนวันที่เด็กดูในแต่ละสัปดาห์ให้น้อยลง โดยขอความร่วมมือกบเด็กด้วย, ชักชวนเด็กทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สนุกและมีประโยชน์
2.เป็นแบบอย่างที่ดี สิ่งที่ยากที่สุดในการลดเวลาดูโทรทัศน์ของเด็ก คือ ผู้ปกครองเองด้วย เพราะหากผู้ปกครองเป็นคนติดโทรทัศน์ จะไม่สามารถช่วยลดเวลาของเด็กได้ ฉะนั้นผู้ปกครองก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูโทรทัศน์ด้วย มิใช่หมายความว่าไม่ดูเลย แต่ต้องดูเป็นเวลา ไม่เปิดโทรทัศน์อย่างไร้จุดหมาย และควรเลือกดูรายการที่เหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย
3.จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านและสร้างกิจกรรมทางเลือกให้เด็ก การที่เราใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์ทำให้เราเสียโอกาสในการทำกิจกรรมดีๆ มากมาย ซึ่งผู้ปกครองควรชี้แนะกิจกรรมอื่นๆ เช่น ชวนเล่นกีฬากลางแจ้ง ทำงานประดิษฐ์ ปลูกต้นไม้ ทำสวน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโตแล้วเขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ และลอกเลียนแบบพฤติกรรมของสิ่งที่อยู่รอบตัวอยู่เสมอ ดังนั้นแล้วหากอยากให้ลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ก็ควรเอาใจใส่ ทั้งสุขภาพ โภชนาการ พัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยด้วยนะคะ
เรียบเรียงโดย แพรวพรรณ สุริวงศ์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เครือข่ายเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ , มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย