กรมสุขภาพจิต เร่ง ช่วยเด็กไทย พ้นวิกฤต ส่งเสริมการคัดกรองและดูแลปัญหาด้านจิตใจ ตั้งเป้า 3 ปี ดูแลครบ 100%
วันนี้ (7 พ.ค.57) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม พัฒนาระบบการดูแลเด็ก อายุ 6-12 ปี ที่มีปัญหาการเรียนในโรงเรียน “เข้าถึง เข้าใจ ช่วยเด็กไทย พ้นวิกฤต” จัดขึ้นโดย สถาบันราชานุกูล เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูในโรงเรียนเครือข่ายให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียน ครอบคลุม 4 โรคสำคัญ ได้แก่ สมาธิสั้น ออทิสติก ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เดินหน้า นำร่อง 100 โรงเรียน ในเขต กทม. ก่อนขยายผลทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ภายใน 3 ปี
นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพจิตตามกลุ่มวัย ซึ่งในวัยเรียน ได้เน้นการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์(EQ) และป้องกันปัญหาในการเรียนและพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ โดยพัฒนาโปรแกรมการเฝ้าระวังปัญหา IQ-EQ ในเด็กวัยเรียน รวมทั้ง พัฒนาศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพ (Psychosocial clinic) ที่เชื่อมโยงกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน เพื่อให้เด็กวัยเรียนที่มีปัญหาการเรียนและปัญหาสุขภาพจิต ได้รับการดูแล/เข้ารับการรักษาในระบบบริการสาธารณสุข
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า 4 โรคสำคัญที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กประสบปัญหาการเรียน ผลการเรียนไม่ดี ได้แก่ ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) สมาธิสั้น ออทิสติก และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขและให้การดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทย ในปีงบประมาณ 2554 พบ ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทยในภาพรวมระดับประเทศ เท่ากับ 98.59 และ ยังพบว่า เด็กวัยเรียนมีแนวโน้มสามารถเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากหลายปัจจัย ได้แก่ การที่แพทย์ ครูอาจารย์และประชาชนทั่วไปรู้จักโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเรียนผ่านการรับรู้จากสื่อ บทความ และเอกสารต่างๆ มากมาย ทำให้เป็นที่รู้จักและเริ่มนำเด็กเข้ารับบริการทั้งด้านการแพทย์และการศึกษา มากขึ้น ประกอบกับ ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงทำให้ค้นพบเด็กได้มากขึ้น
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ โรคออทิสติก นั้น พบว่า ประชากรทุก 500 คน จะเป็นออทิสติก 1 คน ส่วนความชุกชองโรค LD จะพบ ร้อยละ 5 ขณะที่แอลดีแฝง หรือกลุ่มที่มีปัญหาด้านการอ่านมีถึง ร้อยละ 10 ของเด็กทั้งหมด ทั้งนี้ อัตราเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทย 800,000 คนต่อปี คาดว่า อัตราการเกิดโรคจะเพิ่มเป็น 40,000 รายต่อปี นับว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบค้นหาและให้การดูแลช่วยเหลือ
ปัจจัย/สาเหตุที่มีผลต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้น รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ว่า อาจมาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษและอาหารที่ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ส่วนในเด็กที่มีความผิดปกติเหล่านี้ หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีหรือพ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของผลการเรียนที่ไม่ดี คิดว่าเกิดจากการที่เด็กไม่สนใจเรียนหรืออาจกล่าวโทษปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เด็กในกลุ่มนี้อาจเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง แยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน เสียโอกาสทางการศึกษาหรือถูกให้ออกจากระบบโรงเรียน นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคมและประเทศต่อไปได้
นอกจากนี้ จากผลคะแนนโอเน็ต เมื่อวันที่ 15 มีนาคมของนักเรียนชั้น ป.6 ที่ผ่านมา พบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนที่เข้าสอบส่วนใหญ่ตกกันเกือบทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาหลักมีค่าเฉลี่ยไม่ถึงครึ่ง มีเพียง 2 วิชาเท่านั้น ที่มีคะแนนเฉลี่ยเกินครึ่ง ได้แก่ วิชาการงานอาชีพ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา และพบคะแนนต่ำสุด ๐ คะแนนในทุกรายวิชา โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียน ป.6 อาจมีส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับสถานการณ์ปัญหาการเรียนในเด็กไทย รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวถึง สถานการณ์ปัญหาในเด็กวัยเรียน ว่า ปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการคัดกรอง ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับการดูแลและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศักยภาพ และแม้ว่าบางส่วนจะถูกคัดกรองจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแล้ว หากขาดระบบการส่งต่อข้อมูลกลับไปที่หน่วยงานด้านดูแลสุขภาพเด็กก็ไม่เกิดประโยชน์ กรมสุขภาพจิตจึงเป็นแกนหลักในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดกลไกความร่วมมือในการทำงานระหว่างระบบสาธารณสุข การศึกษา และการศึกษาพิเศษเชื่อมโยงกัน โดยผสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียน หน่วยงานด้านสุขภาพที่สามารถให้การดูแลทั้งด้านพัฒนาการของร่างกาย สติปัญญา การเรียนรู้และสังคม ตลอดจนถึงความใส่ใจใกล้ชิดจากผู้ปกครองและชุมชนเองเพื่อพัฒนาระบบการดูแลเด็ก อายุ 6-12 ปี ให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ สถาบันราชานุกูลจึงมุ่งมั่นในการเสริมสร้างศักยภาพครูผู้สอนให้สามารถคัดกรองและดูแลเด็กอายุ 6-12 ปี ที่มีปัญหาการเรียนในโรงเรียน และการพัฒนาระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ พร้อมการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแก่พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กให้ยอมรับเข้าใจและให้การช่วยเหลือเด็กต่อไป
ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้สนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศเฝ้าระวังปัญหา IQ/EQ ในเด็กวัยเรียน เพื่อค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557 พบว่า ร้อยละ 35 ของโรงพยาบาลชุมชนได้ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ คัดกรองเด็กนักเรียน ชั้น ป.1 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,180 คน พบมีเด็กกลุ่มเสี่ยงถึงร้อยละ 27 (2,452 คน) โดยร้อยละ 70 ของเด็กกลุ่มเสี่ยงนี้ได้รับการดูแลจากโรงเรียน และสถานพยาบาลร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดระบบดังกล่าวในปี 2557 ร้อยละ 30 ในปี 2558 ร้อยละ70 และครบ100% ในปี 2559 ทั้งนี้ การดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลเด็ก 6-12 ปี ที่มีปัญหาการเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2555 และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ในปีนี้ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาศักยภาพครูในโรงเรียนเครือข่ายให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้ โดยผลการดำเนินการในปี 2556 พบว่า เด็กนักเรียนที่ศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้รับการคัดกรองภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) จำนวน 2,637 คน เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง 897 คน คิดเป็น ร้อยละ 34.02 โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษาที่ 1 และ 3 (ร้อยละ 24) ซึ่งผลการคัดกรองเบื้องต้น พบว่า เด็กส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเรียนทั้งสามด้าน คือ การอ่าน เขียน และคำนวณ (ร้อยละ 54)
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : 0-2248-8900 หรือ www.rajanukul.go.th