เสริมสร้างพลังใจวัยทำงาน

             
                                               อรวรรณ ดวงจันทร์
                               นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ
                               สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต
 
    ทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีจะถูกกำหนดให้เป็น “วันแรงงานสากล” เพื่อให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้แรงงานหรือคนวัยทำงาน สำหรับประเทศไทยก็เช่นกันไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันคนในสังคมจะได้รับการเรียนรู้ว่าคนในวัยทำงานเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญของประเทศ เพราะคนวัยนี้เป็นผู้ที่มีพลังในการทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและประเทศชาติ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “คน” ไม่ใช่เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นย่อมมีบางขณะที่อาจมีบางสิ่งบางอย่างมากระทบใจจนทำให้หมดพลังชั่วคราว ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการทำงานลดลงและส่งผลต่อผลผลิตของหน่วยงานหรือสถานประกอบการที่ว่าจ้าง แต่ถ้าหน่วยงานหรือสถานประกอบการให้ความสำคัญของคนทำงานและส่งเสริมให้คนทำงานมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีใจที่เป็นสุขในการทำงานย่อมจะส่งผลดีทั้งต่อตัวคนทำงานเองและหน่วยงานหรือสถานประกอบการ ซึ่งมีงานวิจัย พบว่า พนักงานที่มีความสุขจะมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าพวกที่ไม่มีความสุขร้อยละ 31
    องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยาม “ ความสุข” ว่าหมายถึง การที่คนมีสัมพันธภาพที่ดีต่อผู้อื่นและสามารถรักษาสัมพันธภาพนั้นให้ยั่งยืน มีการปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ และมีความภาคภูมิใจในชีวิต
 แนวทางที่หน่วยงานหรือสถานประกอบการจะช่วยส่งเสริมให้ คนทำงาน“ กายใจเป็นสุข” ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก คือ
 1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนทำงานมีสุขภาพกายที่แข็งแรง  โดยจัดสรรเวลาให้คนทำงานได้ออกกำลังกายและมีสถานที่ให้ตามความเหมาะสม เช่น มีสถานที่ออกกำลังกาย มีสนามฟุตบอล สนามเปตอง พร้อมมีอุปกรณ์สนับสนุน เป็นต้น
 2. ส่งเสริมให้คนทำงานมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน โดยเปิดโอกาสให้คนทำงานได้ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความสนิทสนมและแสดงความมีน้ำใจต่อกัน เช่น เขียนการ์ดอวยพรวันเกิด จัดกิจกรรมสังสรรค์ประจำปี จัดทีมไปเยี่ยมเพื่อนที่เจ็บป่วย แข่งกีฬาสีระหว่างแผนก เป็นต้น
 3. ส่งเสริมและสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในการทำงาน เช่น เปิดเพลงเบาๆให้คนทำงานฟังขณะทำงาน มีการหมุนเวียนหน้าที่ในแผนกที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ เช่น แผนกที่มีเสียงดังตลอดเวลา หรือเปลี่ยนหน้าที่ที่เหมาะสมให้กับพนักงานที่ตั้งครรภ์ เป็นต้น
 4. ส่งเสริมให้คนทำงานเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง  โดยให้รางวัลแก่คนทำงานดีหรือขยันทำงานให้เป็นผู้สอนงานแก่ผู้มาเยี่ยมชมหน่วยงาน สนับสนุนให้ร่วมกันทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชนหรือสังคม
 5. สำรวจความสุขของคนทำงาน โดยใช้แบบประเมินความสุขของกรมสุขภาพจิต อย่างน้อยปีละ  1 ครั้ง เพื่อหน่วยงานหรือสถานประกอบการใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริมความสุขของคนทำงานต่อไป และขณะเดียวกันควรจัดให้มีบุคคลที่สามารถทำหน้าที่ให้การปรึกษาให้แก่พนักงานที่มีความสุขน้อย หรือมีความเครียด และสิ่งสำคัญควรให้ความสำคัญในการเก็บความลับเรื่องที่คนทำงานมาขอรับการปรึกษา หรือในกรณีที่คนทำงานมีความเครียดมากหรือมีความทุกข์ใจมากจนหน่วยงานไม่สามารถให้การปรึกษาได้เองควรให้คำแนะนำให้โทรศัพท์มาขอรับการปรึกษากับกรมสุขภาพจิตที่ 1323 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

--------------------------------------------

ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ที่ 1323


  View : 2.08K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 372
 เมื่อวาน 1,566
 สัปดาห์นี้ 10,425
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 47,142
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 839,793
  Your IP : 51.222.253.12