รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กอ้วนเสี่ยงโรคเพียบ จับมือกรมสุขภาพจิตและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แนะโรงเรียนจัดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลัก 3 อ. ตั้งเป้าลดเด็กอ้วนให้เหลือไม่เกินร้อยละ 15 ภายในปี 2560
นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังและติดตามภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียนของกรมอนามัย ปี 2555 พบว่า เด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วน ร้อยละ 17 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ที่พบเด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนร้อยละ 13.6 โรคอ้วนจะส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดตีบแข็ง โรคหัวใจสูง และยังพบว่าเด็กอ้วนจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะเวลานอนหลับ ปอดจะขยายตัวได้น้อย ร่างกายจึงได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้ง่วงนอนช่วงกลางวัน และส่งผลกระทบต่อการเรียน รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ทำให้ปวดหัวเข่า ข้อเท้า กระดูกงอ ขาโก่ง เดินไม่คล่องตัว เหนื่อยง่าย เพราะต้องรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไปด้วย
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุการเกิดโรคอ้วนในเด็กมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย โดยพบว่า เด็กวัยเรียน กินผักเพียงวันละ 1.5 ช้อนกินข้าวต่อคน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณที่แนะนำ คือ ควรกินผักวันละ 12 ช้อนกินข้าว และกินผลไม้ทุกวันเพียง ร้อยละ 26.8 สำหรับการออกกำลังกายพบว่า เด็กที่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ คือ 60 นาทีต่อวัน และสัปดาห์ละ 3 วัน มีเพียงร้อยละ 24.3 ในขณะที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกม และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกินกว่าวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เด็กไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี
กรมอนามัยจึงร่วมกับกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แนะเทคนิคการจัดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลัก 3 อ. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) และเทคนิคการจัดอาหารสำหรับเด็กวัยเรียนตามมาตรฐานโภชนาการ เพื่อให้ครูโภชนาการและครูผู้รับผิดชอบโครงการลดภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนจากโรงเรียนระดับประถมศึกษา ที่มีเด็กอ้วนในโรงเรียนร้อยละ 10 ขึ้นไปเข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้าหมายลดภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนของประเทศ ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 15 ภายในปี 2560
ที่มา : เว็บไซด์กระทรวงสาธารณสุข