กรมสุขภาพจิต โชว์ องค์กรต้นแบบ สร้างสุขด้วยสติ

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดการสัมมนาเผยแพร่วิชาการ “สุขด้วยสติ...ทั้งองค์กรอย่างยั่งยืน (Mindfulness In Organization : MIO)” ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. โดยมีองค์กรต้นแบบและองค์กรใหม่ทั้งภาครัฐ ได้แก่ โรงพยาบาล โรงเรียน และองค์กรภาคธุรกิจเอกชน  ได้แก่ สถานประกอบการทั้งภาคการผลิตและบริการ และองค์กรพัฒนาเอกชน จากทุกภาคของประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมการสัมมนา จำนวน 226 แห่ง 495 คน  
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การทำอย่างไรให้คนทำงานมีความสุข เป็นโจทย์ของทุกองค์กร แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ กำหนดให้ “เจ้าหน้าที่มีความสุข” เป็นเป้าหมาย 1 ใน 3 ในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) ซึ่งที่ผ่านมา หลายองค์กรได้พยายามออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างความสุขแก่เจ้าหน้าที่หรือพนักงาน แต่เนื่องจากความสุขมีหลายประเภทหลายระดับทั้งเงินรางวัล ตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น หรือ คำชมเชย ยกย่อง ซึ่งความสุขลักษณะนี้ อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง และความสำเร็จกับความสุขก็ดูเหมือนจะสวนทางกัน คนทำงานมักจะเสียสมดุลชีวิต เกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหาความสัมพันธ์ ความเครียดสะสมต่อเนื่อง ไม่เป็นสุข  เบื่อหน่าย พลังที่จะคิดพัฒนางานและองค์กรขาดหาย ต้องการเปลี่ยนงานหรือลาออก ขีดสมรรถนะทางการแข่งขันขององค์กรลดน้อยลง กรมสุขภาพจิต โดย กลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต จึงได้พัฒนาโปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร (Mindfulness In Organization: MIO) ขึ้น มุ่งให้เป็นการพัฒนาจิตแนวใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ให้คุณค่ากับความสุขที่เกิดจากการใช้คุณค่าภายในตนเองทำประโยชน์แก่งาน  องค์กรและสังคม  ซึ่งเป็นความสุขที่ยั่งยืน เนื่องจากทุกคนมีความดีงาม และมีความสามารถมากมาย ใช้เท่าไรก็ไม่หมด ความสุขจึงเกิดได้ตลอดเวลาและทำได้ด้วยตนเอง หากรู้สึกถึงคุณค่าของตนเองในการทำงานและในองค์กร ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ย่อมเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ขณะเดียวกันคุณค่าในตนเองจะคงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยบรรยากาศการทำงานร่วมกันอย่างกัลยาณมิตร และสภาวะที่ดีขององค์กร ที่ส่งเสริมและสะท้อนค่านิยมขององค์กรที่ชัดเจน      การสร้างความสุขในองค์กรจึงต้องประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ 
ในความเป็นจริง ความสำเร็จขององค์กรและความสุขอย่างยั่งยืนของคนทำงานเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ โดยต้องพัฒนาส่วนลึกของจิตใจที่จะทำให้จิตส่วนที่ดีงาม เช่น ความรัก  ความเสียสละ ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน ให้อภัย สามารถแสดงออกได้เต็มที่ เป็นความสุขที่ยั่งยืน เข้าใจตนเองและเข้าใจโลก เป็นความสุขสงบทางจิตวิญญาณ (Happy Soul)  ทั้งนี้ ต้องอาศัยสติและสมาธิ เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาจิต ยิ่งไปกว่านั้น ต้องอาศัยการฟังอย่างใส่ใจ (Deep listening) และกัลยาณมิตรสนทนา (Dialogue)  ซึ่งฝึกได้ง่าย โดยเชื่อมโยงกับสติ ใช้สติเป็นรากฐานในการใคร่ครวญจากภายในเพื่อให้เข้าถึงค่านิยมขององค์กรและร่วมกันหาหนทางทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่ส่งเสริมค่านิยมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนต้องเรียนรู้และฝึกฝนจนใช้อย่างอัตโนมัติให้เป็นวิถีชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน  ตลอดจนองค์กรต้องยื่นมือเข้ามาช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับพนักงานหรือบุคลากรให้มีโอกาสพัฒนาจิตในทุกวันและมีความสุขตั้งแต่เริ่มทำงานต่อเนื่องจนกระทั่งงานสำเร็จ องค์กรที่มีวิสัยทัศน์ ให้ความสำคัญกับความสุขของคนทำงาน ให้คุณค่ากับการพัฒนาจิตและเชื่อมั่นในโปรแกรม MIO จะมีการตั้งเป้าหมาย กำหนดนโยบาย  ออกแบบระบบ  กลยุทธ์ในการดำเนินงาน  มีแผนงาน  มีการดำเนินงานและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีทีมที่เข้มแข็งรับผิดชอบดำเนินงาน มีกระบวนการติดตามวัดผลความก้าวหน้าและความสำเร็จของการดำเนินงาน ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ เดือนธันวาคม 2557  เป็นต้นมา หลายองค์กรต่างมุ่งมั่นพัฒนาและมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ และท้ายสุดมีองค์กร 20 แห่ง สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบที่มีการพัฒนาจิตเป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กรอย่างสมบูรณ์ พร้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่องค์กรอื่นๆ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการพัฒนาจิตหรือการสร้างสุขด้วยสติในระดับองค์กรเป็นเรื่องที่ทำได้จริงในองค์กรทุกประเภท ลงทุนน้อย และสามารถตอบโจทย์สำคัญขององค์กร “งานได้ผล คนเป็นสุข” ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณองค์กรต่างๆ ตลอดจน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานสร้างสุขด้วยสติในองค์กรของกรมสุขภาพจิตมาอย่างต่อเนื่อง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
 
************************14 กุมภาพันธ์ 2560
 

  View : 2.81K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 433
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,100
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,817
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,468
  Your IP : 3.128.200.165