โปรดเข้าใจผู้ป่วยออทิสติก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
      จากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการส่งต่อข้อความพร้อมรูปภาพผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความว่า “พี่คะ พี่ตัวโต ก้นใหญ่ แต่ใจเล็กมาก ๆ น้ำใจหาไม่ได้ในสังคมไทยแล้ว คนยืนกันเต็มบีทีเอส พี่นั่งคนเดียว 2 ที่เลย ขนาดบอกแล้วนะว่า ขยับที่ให้หน่อย พี่ตอบกลับมาว่า ขยับไม่ได้แล้ว วางของอยู่ เงิบเลยค่ะ ยืนดูเค้านั่งคุยโทรศัพท์กับเพื่อนต่อไปสวัสดี”
กรณีที่เกิดขึ้นแม้ทางสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จะชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพื่อขอความร่วมมือให้หยุดแชร์ภาพและข้อความดังกล่าว เนื่องจากบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วยออทิส ติกที่รับการรักษาอยู่ที่สถาบันราชานุกูล
     แต่ก็ยังมีคำถามมากมายจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการแสดงออกทางทัศนคติส่วนบุคคลและความเข้าใจผิดในกลุ่มอาการออทิสติก ด้วยเหตุนี้จึงไปพูดคุยกับ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่ออธิบายให้สังคมได้เข้าใจผู้ป่วยกลุ่มนี้
     พญ.อัมพร บอกว่า เรื่องออทิสติก ในปัจจุบันระบบการดูแลรักษา และช่วยเหลือดีขึ้นมาก แม้ตัวเด็กจะมีข้อจำกัดสำคัญ 2 เรื่อง คือ ทักษะในการสื่อสาร และทักษะทางสังคม อย่างที่ปรากฏ ให้เห็นในข่าวนี้
     เรื่องทักษะในการสื่อสารจะเห็นได้ว่า ถ้าเด็กสื่อสารด้วยคำพูดหรือภาษากาย อาจจะมีความล่าช้า แม้จะถูกกระตุ้นด้วยการฝึก แต่เด็กอาจจะมีความแตกต่างจากเด็กคนอื่น เช่น คำพูดอาจจะห้วน
     การเชื่อมโยงร้อยเรียงเหตุผล หรืออธิบายความต่าง ๆ อาจจะยังทำได้ไม่ราบรื่นดีนัก รวมทั้งการปรับตัวทางสังคม ซึ่งเรื่องนี้น่าเห็นใจและน่าจะให้โอกาสเด็ก เพราะถึงแม้พ่อแม่จะรู้และให้การโอบอุ้มดูแลพัฒนาเขา แต่วันหนึ่งเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเพื่อนร่วมวัยในโรงเรียน ซึ่งการปรับตัวในโรงเรียนก็เป็นเรื่องยากระดับหนึ่งแล้ว แต่โชคดีที่หน่วยงานการศึกษายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ครูคอยชี้แนะ กำกับให้เด็กปฏิบัติตัวต่อกันให้เหมาะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ
      ความยากที่สุดอีกอย่างหนึ่ง คงเหมือนกรณีที่ตกเป็นข่าว คือ การจะก้าวไปสู่สังคมภาพกว้าง เขาจะต้องพึ่งพิงตนเองให้ได้มากที่สุด เป็นภาระแก่คนอื่นให้น้อยที่สุด และนำไปสู่ความภาคภูมิใจที่เขาเป็นเขาให้มากที่สุดด้วย ซึ่งกลไกตรงนี้ถ้าหากสังคมไม่เข้าใจ และจ้องที่จะต่อว่าต่อขานหรือหวาดกลัว เด็ก ๆ และครอบครัวของเขาจะไม่ได้รับโอกาสเลย
     เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญ หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วจะสังเกตได้อย่างไรว่าเขาเป็นออทิสติก ก็อย่างที่บอกเขาอาจจะมีข้อจำกัดในการสื่อสาร มีทักษะทางสังคมที่ดูแปลกแยก อย่างไรก็ตาม การที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าใจ เห็นใจเฉพาะคนที่เป็นโรค หรือมีข้อจำกัดเท่านั้น แน่นอนว่าพวกเขาควรจะได้รับความเข้าใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว สำหรับการให้โอกาสเด็กพิเศษ แต่กลไกที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ โดยเฉพาะการเก็บเอาภาพมาโพสต์แล้วตัดสินใครบางคน ด้วยข้อความเพียงประโยคเดียว แล้วตีตราบาปเขาไปเลย มีการส่งต่อกันไป กรณีนี้เป็นการทำร้ายกันและกันได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นคนบกพร่องหรือคนปกติก็ตาม ตรงนี้เป็นบทเรียนให้เราเรียนรู้ และเข้าใจกันและกันมากขึ้น โดยเริ่มต้นพยายามเข้าใจเด็ก ๆ ที่มีข้อจำกัด แต่ต้องไม่ลืมที่จะเข้าใจคนธรรมดาด้วยกันเองด้วย
     อย่างไรก็ตาม เราภูมิใจที่จะบอกว่าตอนนี้น้องคนนี้อยู่ระหว่างกระบวนการการฟื้นฟูเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยอยู่ในโครงการจ้างงานของสถาบันราชานุกูล ไม่ใช่ผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ ที่บางคนสงสัยว่าทำไมปล่อยมาขึ้นรถไฟฟ้าคนเดียว ทำไมพ่อแม่ไม่ดูแล อยากชี้แจงว่า น้องคนนี้ไปไกลกว่านั้น เขาอยู่ในโครงการจ้างงาน คือการฝึกให้เขาสามารถที่จะเดินเอกสาร ช่วยเหลืองานสำนักงาน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้มีอาชีพเป็นของตัวเองได้ และพวกเราก็ทำสำเร็จไปหลายรายแล้ว ถ้าจะสังเกตดี ๆ สิ่งที่น้องถูกต่อว่าในเฟซบุ๊ก นั้นไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายและเป็นอันตรายกับสังคมแต่อย่างใด มีคำถามว่าถ้าน้องไปพูดแบบนี้กับจิ๊กโก๋ อาจจะโดนทำร้ายก็ได้ เขาอาจจะกลายเป็นเหยื่อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงแสดงว่าสังคมเลวร้ายมาก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่น้องแต่อยู่ที่จิ๊กโก๋ ดังนั้นควรให้โอกาสให้ที่ยืนกับเขาในสังคมด้วย.


นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน


  View : 2.17K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 591
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,258
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,975
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,626
  Your IP : 3.142.172.190