รวบรวมโดย ศูนย์ข้อมูลวิชาการ สถาบันราชานุกูล ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2554
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีคุณแม่มือใหม่หลายท่านแวะเวียนมาสอบถามถึงนมผงที่นอกจากอ้างว่าช่วยในเรื่องการพัฒนาศักยภาพทางสมองและดวงตาของทารกแล้ว ยังส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาดีขึ้นอีกด้วยจริงหรือไม่?
คุณแม่หลายท่านมีคำถามว่า ดีเอชเอ และ เออาร์เอคืออะไรกันแน่ จำเป็นหรือไม่และต้องรับประทานมากแค่ไหนถึงจะดีและเพียงพอสำหรับลูกน้อย
ในหมู่สารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย องค์การอาหารและยาของสหรัฐเล็งเห็นว่า ดีเอชเอ นี้เป็นหนึ่งในหมู่สารอาหารทั้งหมดที่มีความสำคัญ และแม้องค์การอาหารและยาเองจะไม่กำหนดค่ามาตรฐานของความจำเป็น ดีเอชเอต่อร่างกาย แต่ก็ยอมรับว่าคนทุกคนควรจะได้รับสารดีเอชเออย่างน้อยวันละ 160 มิลลิกรัม และเนื่องจากสารนี้มีความสำคัญ จึงเห็นด้วยในส่วนของการโฆษณาเกี่ยวกับการบรรจุดีเอชเอ ในอาหารต่าง ๆ ซึ่งกำหนดไว้ว่า อาหารเหล่านั้นจะต้องมีสารดีเอชเอ ประมาณ 32 มิลลิลิตร ต่อ 1 หน่วยการรับประทาน
ขณะเดียวกันสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐได้ประกาศว่า คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร ควรจะได้รับสารดีเอชเอ ประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนเด็กที่แข็งแรงควรได้รับประมาณ 220 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสารดีเอชเอ นี้ส่วนใหญ่ได้มาจากสาหร่ายและปลาทะเล เช่น ปลากะตัก ปลาแซลมอน ปลาเฮริ่ง ปลาแม็กเคอเรล ปลาทูน่า รวมถึงเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ และยังรวมถึงไข่แดงเท่านั้นด้วย ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า คนปกติได้รับสารดีเอชเอ ต่อวันไม่เพียงพอ จึงเกิดการคิดสารดีเอชเอสังเคราะห์ขึ้น
จริง ๆ แล้วเรื่องการสังเคราะห์สารดีเอชเอนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน เริ่มจากการที่องค์การอนามัยโลกพบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีน้ำนมอันเนื่องจากหลายสาเหตุ ทำให้ต้องหานมผงมาทดแทน ซึ่งนมผงส่วนใหญ่ก็มักขาดกรดไขมัน โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ที่เรียกรวม ๆ ว่า ดีเอชเอ และ เออาร์เอซึ่งกรดไขมันนี้ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว เมื่ออยู่ในน้ำนมแม่จะช่วยในเรื่องพัฒนาการของสมองและดวงตาของลูกน้อย เมื่อนมแม่มีไม่เพียงพอ องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยและสังเคราะห์สารนี้จากการหมักสาหร่าย เห็ด โดยใช้สารเฮกเซนซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา (สารเฮกเซนนี้เป็นสารจำพวกไฮโดรคาร์บอนและอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับสารพิษตัวอื่น ๆ
ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพรุนแรงได้เช่นกัน) จนในท้ายที่สุดสูตรอนุพันธ์สังเคราะห์ของ ดีเอชเอ และ เออาร์เอ ได้ถูกจัดทำขึ้น เพื่อให้ใกล้เคียงและสามารถนำมาทดแทนนมแม่เพื่อตอบสนองต่อภาวะที่ทารกคลอดก่อนกำหนดใน 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งอีก 8 ประเทศยินดีที่จะให้ใส่เพิ่มลงในนมผงและอาหารอื่นๆ สำหรับเด็กที่แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสหรัฐ
หลายงานวิจัยได้สนับสนุนความคิดที่ว่า ดีเอชเอ และ เออาร์เอ มีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทารก ในปี ค.ศ. 1998 นักวิจัยจากสกอตแลนด์ได้ทำการวิจัยกับเด็กที่อายุ 10 เดือน โดยให้รับประทานนมที่เสริมดีเอชเอ ในระยะ 4 เดือนแรก โดยเด็กคนดังกล่าวสามารถทำคะแนนในส่วนของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (ในที่นี้คือการหาของที่ถูกซ่อนไว้) ได้ถูกต้อง และดีกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน ซึ่งได้ทำการวิจัยเด็กจำนวน 470 คนแล้วพบว่า เด็กที่ได้รับสารดีเอชเอ ในนมผงสามารถทำข้อสอบที่เกี่ยวกับสายตาในช่วง 6 เดือนแรก และภาษาในช่วง 14 เดือนต่อมาได้ดีกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน
เมื่อได้ผลดังนี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวอ้างว่า สาร ดีเอชเอ และ เออาร์เอ นั้น มีส่วนช่วยในพัฒนาการสมองและตาของเด็กทารกและเด็กวัยแรกเกิด ซึ่งในปีเดียวกันนั้น ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐได้ปฏิเสธในการใส่สารสังเคราะห์ดีเอชเอ ลงไปในนมสำหรับเด็กอ่อนเนื่องจากเห็นว่า นมผงสูตรปกติมีกรดไขมันที่สามารถเปลี่ยนเป็น ดีเอชเอ และ เออาร์เอ ได้มากเพียงพอ
ในปี ค.ศ. 2007 องค์การอาหารและยาของสหรัฐได้ประกาศว่า สารที่ถูกผสมเพิ่มเติมเข้าไปนั้น สามารถส่งผลให้เด็กที่รับประทานเกิดอาการแพ้และไม่สบายได้ ซึ่งรวมถึง ท้องเสีย ท้องอืด ดีซ่าน รวมถึงการหยุดหายใจชั่วคราว และเมื่อปี ค.ศ. 2009 ทางองค์การได้ออกมากล่าวด้วยว่า งานวิจัยที่สนับสนุนความปลอดภัยของสารสังเคราะห์ดีเอชเอ ในเด็กที่รับประทานเข้าไปนั้น ยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ
ส่วนคำถามที่ว่า เด็กที่รับประทานนมหรืออาหารเสริมที่เพิ่มสารดีเอชเอจะได้รับประโยชน์จริงหรือไม่นั้น ทางนักวิจัยจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่เป็นงานวิจัยด้านสุขภาพที่จะสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า ถ้าทานนมหรืออาหารเสริมที่มีดีเอชเอ มาก ๆ แล้วจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของสมองและตาอย่างแท้จริง และในหัวข้อเดียวกันนี้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการของสหรัฐนั้น นักวิจัยพบว่า
ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างกรดไขมันกับพัฒนาการทางสติปัญญาหรือพฤติกรรมที่สามารถวัดได้ ขณะเดียวกัน งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์สหรัฐยังพบด้วยว่า การรับประทานสารอาหารสังเคราะห์ดีเอชเอ และ เออาร์เอ ไม่ได้ส่งผลต่อพัฒนาการของทารก ดังนั้นการเพิ่มดีเอชเอ จึงไม่มีความจำเป็น และเมื่อปี ค.ศ. 2010 ในวารสารด้านสูตินรีแพทย์ของสหรัฐ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า จากงานวิจัยที่ทำการเก็บข้อมูลและบันทึกอย่างเข้มงวดพบว่า ไม่มีความเกี่ยวเนื่องของสารสังเคราะห์ ดีเอชเอ และ เออาร์เอ ที่เพิ่มเข้าไปในนมผงและอาหารเสริมต่าง ๆ ในการที่จะช่วยพัฒนาร่างกาย สายตา หรือแม้กระทั่งการทำงานของระบบประสาทในทารกแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์ด้านกุมารแพทย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ได้กล่าวโดยสรุปในงานวิจัยตอนหนึ่งถึงความจำเป็นในการรับประทานนมหรืออาหารเสริมที่เพิ่มสารสังเคราะห์ดีเอชเอ ไว้ว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะมนุษย์สามารถสังเคราะห์กรดไขมันชนิดนี้ได้เอง และจริง ๆ แล้ว ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบ คำถามก็คือคนเราจะฉลาดและสายตาดีจากการรับประทานสารสังเคราะห์ดีเอชเอ และ เออาร์เอ ได้จริงหรือไม่ หรือจริง ๆ แล้ว เป็นแค่เพียงการตลาดเท่านั้น ซึ่งคำตอบก็น่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า.
อ.ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย