รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทยและมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสนอกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นหลังข้อมูลยืนยัน การพนันและความรุนแรงในครอบครัวคุกคามคุณภาพชีวิตเยาวชนไทยรุนแรงมากขึ้น
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตและเลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ความรุนแรงในครอบครัวกำลังคุกคามคุณภาพชีวิตของเยาวชนมาก โดยเฉพาะความรุนแรงที่มาจากละเลยทอดทิ้งและความรุนแรงด้านจิตใจที่เปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำรอวันระเบิดออกมา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากกรณีการฆาตกรรมในครอบครัวที่เป็นข่าวใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจาก 4 ปัจจัยคือ ครอบครัวติดสุรา ปัญหาการพนันและการติดอบายมุข ปัญหาหนี้สินที่ก่อความเครียดให้ครอบครัว และการบริโภคสื่อที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงสูงที่จะใช้ชีวิตไม่เหมาะสม เช่น ติดยาเสพติด เล่นการพนัน ฯลฯ
พญ.พรรณพิมล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของสถานการณ์ว่า มีข้อมูลจากสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวระบุว่า ประเทศไทยมีการทำร้ายกันของคู่สมรสอยู่ในลำดับที่ 30 และผู้ชายทำร้ายผู้หญิงสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของของศูนย์การเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบ 50 % พบเห็นการกระทำความรุนแรงของคนในครอบครัว โดยมีสาเหตุหลักคือ การหึงหวง/นอกใจ ยาเสพติด และความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน และยังพบว่าความรุนแรงเกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สินและปัญหาติดการพนัน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในปี 2556 พบว่าการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มาจากความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่อบอุ่นเกือบ 80% ซึ่งข้อมูลสถานการณ์ครอบครัวอบอุ่นที่เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนตัวหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าครอบครัวไทยกำลังอยู่ในระดับที่มีปัญหา ขณะที่กลไกที่มีอยู่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มาจากการขาดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนโยบายระดับชาติยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ ขณะที่สถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวและการพนันมีความรุนแรงมากขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นที่กลไกเหล่านี้ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์และสามารถจัดการปัญหาได้ทั้งมิติการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการฟื้นฟูเยียวยา
นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดผลกระทบจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่าขณะนี้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติได้จับมือกับสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ผลักดันเรื่องการพัฒนากลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยงเข้าสู่การพิจารณาเพื่อบรรจุเป็นวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2557 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองคุณภาพชีวิตของเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง ซึ่งนอกจากความรุนแรงในครอบครัวแล้ว การพนันเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สร้างผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยมีการสำรวจพบว่ามีเด็กและเยาวชนเล่นการพนันมาถึง 2.8 ล้านคนและแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่บัญญัติเรื่องการคุ้มครองเยาวชนจากการพนัน แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะดูแลเยาวชนจากผลกระทบของการพนัน
นายพงศ์ธรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กลไกระดับชาติ ทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำลังมีการปรับปรุงเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเยาวชนและครอบครัว ที่ครอบคลุมการส่งเสริมและป้องกันปัญหาครอบครัวมากขึ้น ขณะที่กลไกในระดับท้องถิ่นนั้น มีข้อเสนอสำคัญจากการระดมความเห็นระบุให้มีเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ซึ่งมีการจัดตั้งไปแล้วกว่า 6,000 แห่งทั้งในเขตเมืองและชนบทให้มีโครงสร้างรองรับภายใต้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้สามารถเป็นกลไกระดับพื้นที่ที่ส่งเสริมความเป็นครอบครัว ดูแลป้องกันความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Thai PR.Net