ปัญหาการกินในเด็ก (Feeding problems in children)
พญ.วรวรรณ จงสง่าวิทยาเลิศ
การกินอาหารสำหรับเด็ก คือการให้สารอาหารแก่เด็กเพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสม เด็กเล็กยังไม่สามารถกินอาหารได้เองต้องอาศัยผู้เลี้ยงดูป้อนอาหาร ต่อมาเด็กจึงเริ่มเรียนรู้จนสามารถกินอาหารด้วยตนเองได้ ความสำคัญของการกินในเด็กนอกเหนือจะต้องคำนึงถึงสารอาหารที่เด็กควรจะได้รับแล้วการกินอาหารยังเป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่งที่เด็กและคนในครอบครัวจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในช่วงมื้ออาหาร
ปัญหาการกิน ได้แก่ ปัญหาเด็กกินยาก ไม่ยอมกินข้าว เบื่ออาหาร กินช้า อมข้าว ฯลฯ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคมไทย อันเนื่องจากความไม่เข้าใจในพัฒนาการและธรรมชาติการกินของเด็ก ในปัจจุบันพบปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความเครียดต่อทั้งผู้ปกครองและเด็กได้อย่างมาก และหากผู้ปกครองแก้ไขปัญหาไม่ถูกต้อง ปัญหานี้ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนอาจทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก หรือปัญหาพฤติกรรมอื่นๆตามมาได้ ดังนั้นจึงควรมีการป้องกันที่ดีและรีบแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เบื้องต้น
อุบัติการณ์
ปัญหาการกินในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย มีรายงานอุบัติการณ์ที่พบในเด็กปกติได้ร้อยละ 20-50 และในเด็กพัฒนาการบกพร่องถึงร้อยละ 70-89 แต่อุบัติการณ์จะแตกต่างกันขึ้นกับประชากรที่ทำการสำรวจและคำจำกัดความของปัญหาการกิน
พัฒนาการด้านการกินของเด็ก
ผู้ปกครองควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการกินของเด็กแต่ละช่วงวัย พร้อมกับการฝึกฝนให้มีระเบียบวินัยในการกินอาหาร พัฒนาการด้านการกินของเด็กจะสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านร่างกายและสังคมของเด็กแต่ละช่วงวัย ดังแสดงในตารางที่ 1
จากตารางจะเห็นว่าเด็กอายุ 12-36 เดือนจะเริ่มกินอาหารที่มีลักษณะของเนื้ออาหารต่างๆกันได้มากขึ้น การเคี้ยวมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดื่มน้ำจากแก้วปากกว้างได้ หลังจากอายุ 36 เดือนเด็กจะกินอาหารแข็งได้เหมือนผู้ใหญ่และดื่มน้ำและนมจากแก้วได้ ทั้งนี้ผู้ปกครองมีบทบาทในการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมในการกินอาหาร เช่น ควรกินเมื่อไร ที่ไหน อะไร และใช้เวลากินอาหารแต่ละมื้อเพียงใด แต่สำหรับปริมาณอาหารนั้นเด็กจะเป็นผู้กำหนดเอง คำแนะนำการให้อาหารเด็กสำหรับผู้ปกครอง ดังแสดงในตารางที่ 2
การป้องกันปัญหาการกินในเด็ก
ปัญหาการกินในเด็กสามารถป้องกันได้ด้วยการฝึกหัดให้เด็กมีสุขนิสัยการกินที่ดีตั้งแต่แรก โดยฝึกฝนให้เด็กมีระเบียบวินัย ให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆตามวัยและรับผิดชอบในการกินอาหารของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อตนเองในเรื่องอื่นๆต่อไป Finney (1986) ได้ให้ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการฝึกระเบียบวินัยการกิน ซึ่งสามารถแนะนำตั้งแต่เด็กอายุ 15-18 เดือน ดังนี้
1) จัดเวลาอาหารให้สมาชิกทุกคนในบ้านนั่งร่วมโต๊ะพร้อมกัน ไม่เปิดโทรทัศน์ระหว่างมื้ออาหาร
2) กำหนดเวลาการกินอาหารไม่ให้นานเกินไป ไม่ควรเกิน 30 นาที
3) กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับมื้ออาหารให้เด็กปฏิบัติ เช่น นั่งอยู่บนเก้าอี้จนอิ่ม ใช้ช้อนตักอาหาร ห้ามบ้วนอาหาร เป็นต้น
4) บอกเด็กให้ทราบกฎเกณฑ์ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลทุกครั้งที่เริ่มมื้ออาหาร จนกว่าเด็กจะสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสม่ำเสมอ
5) ตักอาหารให้เด็กในปริมาณแต่น้อยที่เด็กจะกินได้หมด แล้วค่อยตักเติมใหม่หลังจากกินหมด แต่อย่าบังคับให้เด็กต้องกินให้หมดจาน
6) ให้เด็กมีส่วนร่วมในการสนทนาด้วย เวลาอาหารควรเป็นเวลาที่พูดแต่เรื่องดีๆ พูดชื่นชมเด็กถึงความดีที่เขาได้ทำ ต้องระวังที่จะไม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือตำหนิเด็กในขณะกินอาหาร
7) ชมเด็กเมื่อปฏิบัติได้ตามกฎที่ตั้งไว้
8) เมื่อเด็กไม่ปฏิบัติตามกฎ เตือนให้เด็กได้แก้ไข แต่ถ้ายังคงฝืนกฎเป็นครั้งที่3 อาจใช้วิธีแยกเด็กไปอยู่ตามลำพังโดยไม่ให้ความสนใจเป็นเวลาชั่วขณะ
9) เมื่อหมดเวลาที่กำหนด ให้เก็บโต๊ะอาหารโดยไม่ต้องสนใจว่าเด็กจะกินหมดแล้วหรือไม่ ไม่ต้องพูดอะไรอื่นอีกนอกจากบอกว่าหมดเวลาแล้ว
10) ถ้าเด็กกินไม่หมด ไม่มีการให้อาหารหรือของว่างอื่นใดนอกจากน้ำเปล่าก่อนจะถึงมื้อถัดไป
11) ถึงแม้ว่าเด็กจะกินได้ตามปกติ ก็ควรกำหนดอาหารว่างไม่ให้มีมากเกินไป อาหารว่างเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารกินเล่นแต่ไม่มีคุณค่า เพราะถ้าเด็กกินอาหารเหล่านี้มากไปก็จะไม่หิวเมื่อถึงเวลาอาหาร
12) ถ้าเด็กปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องบอกกฎเกณฑ์เด็กอีกต่อไป แต่วิธีที่จะทบทวนไม่ให้เด็กลืมกฎก็คือการชมเป็นระยะๆที่เด็กทำได้ตามกฎนั้นๆ
สาเหตุของปัญหาการกินในเด็ก
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
• ให้อาหารตามตารางมากกว่าตามความต้องการของเด็ก
• ดื่มน้ำผลไม้ น้ำหวานหรือขนมมากเกินไประหว่างมื้ออาหาร
• มีผู้ดูแลหลายคน ทำให้ไม่มีความสม่ำเสมอในการให้อาหาร
• มื้ออาหารสับสน ไม่มีระเบียบ
• สถานที่กินอาหารไม่เหมาะสม เช่น หน้าโทรทัศน์ เกมคอมพิวเตอร์
ปัจจัยทางด้านตัวเด็ก
• กล้ามเนื้อช่องปากผิดปกติ
• โรคทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการดูด กลืน เคี้ยวอาหาร
• โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารบีบตัวผิดปกติ
• โรคหัวใจและปอด ทำให้เด็กมีอาการเหนื่อย
• โรคทางระบบหู คอ จมูกที่อาจทำให้เด็กสำลักเวลากลืนอาหารได้
• เริ่มให้อาหารช้าหรือเร็วเกินไป ไม่เป็นไปตามช่วงวัย
• การแพ้อาหาร
• ความอยากอาหารน้อย ที่เกิดขึ้นจากการกินยาหรือเกิดขึ้นเอง
• เด็กถูกทอดทิ้งหรือซึมเศร้า
ปัจจัยทางด้านผู้เลี้ยงดู
• ผู้เลี้ยงดูตอบสนองไม่เหมาะสม ไม่รู้ว่าเด็กหิวหรืออิ่ม
• บังคับให้เด็กกินเมื่อไม่หิว
• ไม่อนุญาตให้เด็กกินเอง เนื่องจากกลัวเด็กทำเลอะเทอะหรือกลัวว่าจะกินไม่หมด
• ควบคุมเด็กระหว่างมื้ออาหารมากเกินไป เช่น ห้ามเลอะเทอะ ต้องกินให้หมด
ปัญหาการกินที่พบบ่อยในเด็กและแนวทางแก้ไข
1. การปฏิเสธอาหาร (food refusal)
ปัญหานี้เป็นปัญหาการกินที่พบมากที่สุดในเด็ก โดยเริ่มเห็นได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ปีและจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเข้าขวบปีที่สอง ซึ่งเป็นระยะที่เด็กกำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองโดยการต่อต้านผู้ใหญ่ พร้อมกับที่มีความสนใจเรื่องการกินอาหารน้อยลง เด็กจะมีอาการกินช้า เคี้ยวช้า หรืออมอาหารไว้ในปากนานๆ จนถึงกับร้องไห้อาละวาดไม่ยอมกิน บ้วนทิ้งหรืออาเจียนที่กินเข้าไปแล้วออกมา ส่วนใหญ่เด็กที่มาด้วยปัญหานี้จะมีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเมื่อซักประวัติจะพบว่าเด็กได้รับอาหารในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน หากเด็กมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์หรือได้รับอาหารปริมาณน้อยกว่าปกติ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุทางกายเพิ่มเติม
แนวทางแก้ไขปัญหา
1. พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กรับผิดชอบการกินอาหารของตัวเอง ไม่แสดงความเดือนร้อนต่อการกินอาหารของเด็กมากนัก แต่พ่อแม่จะมีหน้าที่จัดเตรียมอาหารไว้ให้และฝึกวินัยการกินอาหารตามคำแนะนำที่กล่าวไว้เบื้องต้น
2. พ่อแม่ต้องใช้ความอดทนและเอาจริงในการปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอ
3. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร
4. ให้อาหารปริมาณน้อย ชื่นชมถ้าเด็กกินหมด หลีกเลี่ยงการตำหนิเมื่อเด็กกินไม่หมด
5. อาจให้วิตามินรวมเสริมแก่เด็กในรายที่น้ำหนักน้อยหรือพ่อแม่กังวลว่าเด็กจะขาดสารอาหาร แต่ไม่ควรใช้ยากระตุ้นความอยากอาหาร
2. เด็กเลือกกิน (picky eating)
ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะมีการเจริญเติบโตปกติ แต่เลือกไม่กินอาหารบางอย่างที่พ่อแม่เห็นว่าควรกิน เช่น ไม่กินผัก
แนวทางแก้ไขปัญหา
1. หลีกเลี่ยงการบังคับเด็ก เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจทำให้เด็กเกลียดอาหารชนิดนั้นไปเลย
2. ควรฝึกให้เด็กค่อยๆคุ้นเคย โดยดัดแปลงอาหารนั้นในรูปแบบต่างๆ หรือจัดอาหารนั้นๆบนโต๊ะอาหารบ่อยๆ แล้วค่อยๆชักชวนให้เด็กลองกินทีละน้อยโดยไม่บังคับ
3. ผู้ใหญ่ควรทำตัวเป็นแบบอย่าง โดยการกินอาหารนั้นด้วยท่าทีที่แสดงความชอบ
4. อาจให้วิตามินรวมเสริมแก่เด็กหากพ่อแม่มีความกังวล
จากเนื้อหาที่กล่าวมาทั้งหมด จะพบว่าปัญหาการกินเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก และการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการด้านการกินของเด็กร่วมกับการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม แนวทางแก้ไขปัญหาการกินในเด็กที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม มีการเจริญเติบโตตามวัย ผู้เลี้ยงดูมีความมั่นใจและมีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. วิฐารณ บุญสิทธิ. ปัญหาการกินในเด็ก. ตำราจิตเวชเด็กสำหรับกุมารแพทย์(ฉบับปรับปรุง), 2538 : 104-109
2. บานชื่น สุวรรณเทพ. พัฒนาการการกินอาหารในเด็ก. ตำราพัฒนาการเด็กและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 3, 2556 : 139-155
3. นิดา ลิ้มสุวรรณ. ปัญหาการกินอาหารในเด็ก. http.//www.ramamental.com/non/ปัญหาการกินในเด็ก/
.............................................................................................