โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอย่างเป็น องค์รวม ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ

 

ส่งประกวดรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติประเภทรางวัลบูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ ประจำปี 2559 ได้รับรางวัลระดับดี
 
          โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาอย่างเป็นองค์รวมในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2556-2558 โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิกประเทศไทย องค์การยูนิเซฟ และสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 5 แห่งจาก 19 แห่ง และโรงเรียนเอกชน 1 แห่ง โดยประสานความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เกิดระบบการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเต็มตามศักยภาพและมีความสุข ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือในการส่งเสริมป้องกัน เฝ้าระวัง และดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา พัฒนาพื้นที่ต้นแบบระบบการคัดกรอง/ ประเมินและดูแลช่วยเหลือ ตลอดจนการส่งต่อ พัฒนาศักยภาพเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลช่วยเหลือบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และเพิ่มการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือบุคคลที่มีความบกพร่องฯ ในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการทดลองขยายการทำงานผ่านการประสานงานของหน่วยงานสาธารณสุขและการศึกษาในโรงเรียนการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาทั้ง 19 แห่งในปี 2558
          ในปีการศึกษา 2557 และ 2558 มีเด็กนักเรียนที่ผ่านการประเมินสุขภาพ 1,357 และ 1,253 ราย ตามลำดับ จากประวัติ พบนักเรียนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังประมาณ ร้อยละ 11 ทั้งใน 2 ปีการศึกษา โดยพบโรคลมชักมากที่สุด ในส่วนของโรคทางจิตเวช ส่วนใหญ่เป็นโรคออทิสติก รองลงมาคือโรคสมาธิสั้น           กลุ่มอาการดาวน์ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดภาวะบกพร่องทางสติปัญญามากที่สุด       พบร้อยละ 14.6 ในปี 2557 และร้อยละ 18.5 ในปี 2558 ซึ่งประมาณร้อยละ 90 ของนักเรียนกลุ่มอาการดาวน์ ไม่ได้รับการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอ (ทุก 1 ปี) และส่วนใหญ่ ไม่ทราบประวัติการตรวจหัวใจ (ควรมีประวัติการตรวจอย่างละเอียดอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต) ในนักเรียนหญิง มีนักเรียนที่ครูไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับประจำเดือนมากถึงร้อยละ 49.1 และ ร้อยละ 42.1 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ ในกลุ่มที่มีประจำเดือนแล้ว เกินกว่าครึ่งไม่ได้คุมกำเนิดหรือไม่ทราบประวัติ การประเมินสายตา พบนักเรียนที่ประเมินไม่ได้ ร้อยละ 38.2 (2557) และ 33.6 (2558) ในกลุ่มที่ประเมินได้ พบสายตาผิดปกติ ร้อยละ 47.3 และ 41.3 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในส่วนของภาวะโภชนาการ พบนักเรียนอ้วน     ร้อยละ 11.2 ผอม ร้อยละ 4.4 ในปี 2557 อ้วน ร้อยละ 12.5 ผอม ร้อยละ 6.6 ในปี 2558 แต่ยังพบว่ามีนักเรียนสมส่วนมากขึ้น จาก ร้อยละ 58.1 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 60.2 ในปี 2558 ซึ่งอาจจะบ่งชี้ว่าเด็กที่มีแนวโน้มที่จะมีภาวะโภชนาการผิดปกติ (เริ่มอ้วนหรือค่อนข้างผอม) มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเด็กอ้วน หรือผอมถ้าไม่ได้รับการดูแล และกลับเป็นสมส่วนได้ถ้าได้รับการดูแลที่เหมาะสม ในส่วนของสุขภาพช่องปากและฟัน พบนักเรียนฟันผุ ร้อยละ 57.5 เหงือกอักเสบ ร้อยละ 26.7 ในปี 2557 ฟันผุ ร้อยละ 60.9 เหงือกอักเสบ ร้อยละ 31.1 ในปี 2558 แต่จากการที่นักเรียนที่ได้รับการตรวจประเมินสุขภาพช่องปากและฟันและรับการดูแล พบว่าในภาพรวมมีเด็กนักเรียนที่มีสุขภาพช่องปากและฟันดีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.0 ในปี 2557 เป็น       ร้อยละ 25.7 ในปี 2558  ในการตรวจสุขภาพ พบความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้บ่อย ได้แก่ กระดูกสันหลังคด และเท้าแบน ในบางโรงเรียนพบโรคติดต่อ ประกอบด้วย โรคเหา กลากเกลื้อน  ตาแดง และโรคหิด เมื่อพิจารณาจากประวัติสุขภาพ การประเมินภาวะโภชนาการ การประเมินสายตา สัญญาณชีพ และการตรวจร่างกายทั่วไป พบว่าในปี 2557 มีนักเรียนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการส่งต่อเพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติมจากสาธารณสุขไม่เร่งด่วน ร้อยละ 54.4 ส่งต่อแบบเร่งด่วน ร้อยละ 2.4 ในปี 2558 ไม่เร่งด่วน ร้อยละ 61.8 เร่งด่วน ร้อยละ 1.0 ในภาพรวมของสภาวะสุขภาพทั้งร่างกายและสุขภาพช่องปากและฟัน พบว่าเด็กนักเรียนมีปัญหาสุขภาพด้านใดด้านหนึ่งถึงร้อยละ 91.4 ในปี 2557 และ ร้อยละ 90.7  ในปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาว่าบุคคลกลุ่มนี้มักพบปัญหาสุขภาพสูงกว่าคนทั่วไป
          ผลจากโครงการในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินงานสำคัญเพื่อนักเรียนและบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ดังนี้
1. ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของระบบส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 
2. มีระบบการดูแลภายในโรงเรียนและกลไกการส่งต่อปัญหาสุขภาพที่เอื้อต่อข้อจำกัดของเด็กและครอบครัว 
3. มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวางแผนการดำเนินงานและประเมินผลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคกระทรวงศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการสังคม ท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมพัฒนา
 
 
คณะทำงานโครงการ
 

  View : 3.88K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,097
 เมื่อวาน 1,846
 สัปดาห์นี้ 9,597
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 46,314
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 838,965
  Your IP : 51.222.253.7