พี่น้องอิจฉากัน (Sibling Rivalry)

 

 

พี่น้องอิจฉากัน (Sibling Rivalry)

โดย พญ.อาภาภรณ์ พึ่งยอด

 

พี่น้อง (Sibling)
           พี่น้อง หมายถึง บุคคลหลายคนที่เกิดจากบิดาและมารดาคนเดียวกัน (พี่น้องร่วมบิดามารดา) หรือเกิดจากบิดาหรือมารดาเดียวกันฝ่ายใดอย่างหนึ่ง (พี่น้องร่วมบิดา, พี่น้องร่วมมารดา) หมายความรวมถึงพี่สาว น้องสาว พี่ชาย และน้องชาย

ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง
           พี่น้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันได้หลายรูปแบบ ทั้งความสัมพันธ์ที่ดี เช่น การให้ความช่วยเหลือ แบ่งปัน เป็นเพื่อนเล่นกัน เป็นที่พักพิงทางใจ เป็นที่ปรึกษา เนื่องจากพี่น้องสามารถเข้าใจปัญหาของกันและกันได้ดี มีการสื่อสารระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องของตนได้ และบางครั้งก็เป็นเพื่อนพูดคุยในบางประเด็นที่อาจจะคุยกับใครไม่ได้ เช่น เรื่องเพศ เป็นต้น
 นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว พี่น้องอาจมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การต่อสู้กัน หรือเกิดความอิจฉาริษยากันได้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ได้แก่
          - วิธีเลี้ยงดูของพ่อแม่
          - ลำดับการเกิด
          - บุคลิกภาพของเด็กแต่ละคน
          - สิ่งแวดล้อมภายนอกครอบครัว

พี่น้องอิจฉากัน
            หมายถึง ความอิจฉาริษยา การแข่งขัน การต่อสู้แย่งชิงระหว่างพี่น้อง มักมีความรุนแรงในพี่น้องที่มีอายุใกล้เคียงกันและเพศเดียวกัน
           ปัญหาพี่น้องอิจฉากันนี้พบได้ตั้งแต่ก่อนน้องเกิดหรือหลังจากน้องเกิดไม่นาน เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักคงอยู่ตลอดช่วงวัยเด็ก บางครั้งอาจคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ มีการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่มีปัญหาอิจฉากันระหว่างพี่น้อง แต่ส่วนใหญ่ความสัมพันธ์จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ลักษณะที่แสดงออก
           ปัญหาพี่น้องอิจฉากันสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ในกรณีที่ไม่รุนแรงมักมีลักษณะไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่แบ่งปัน ไม่มองด้านดีของพี่น้อง ไม่มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ในรายที่มีความอิจฉากันรุนแรงจะมีลักษณะแข่งขันกันอย่างมากเพื่อแย่งความสนใจจากพ่อแม่ อาจรุนแรงถึงขั้นมีพฤติกรรมรุนแรง ต่อสู้ ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น
           ในเด็กบางคนอาจแสดงออกมาเป็นปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม เช่น มีพฤติกรรมถดถอย ทำพฤติกรรมเลียนแบบเด็กเล็ก ๆ มีพฤติกรรมต่อต้าน ร้องอาละวาด วิตกกังวล มีปัญหาการนอน เป็นต้น

สาเหตุ
           ปัญหาพี่น้องอิจฉากันมีสาเหตุจากการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้แก่ เวลา ความรัก ความสนใจ และการยอมรับจากพ่อและแม่ นอกจากนี้ยังเกิดจากปัจจัยจากเด็กและพ่อแม่ด้วย

          ปัจจัยจากตัวเด็ก
                    - บุคลิกภาพ พื้นอารมณ์ เช่น เป็นเด็กเลี้ยงยาก แยกตัว
                    - มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับผู้อื่น ไม่ทราบวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
                    - ตำแหน่งในครอบครัว
                    - ความแตกต่างด้านอายุ, เพศ
                    - เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น พัฒนาการล่าช้า ป่วย พิการ

          ปัจจัยจากพ่อแม่
                    - ไม่มีเวลา ขาดการดูแลเอาใจใส่ลูก
                    - มีทัศนคติที่ยอมรับความรุนแรงได้
                    - ไม่เป็นต้นแบบที่ดีแก่ลูก แสดงความรุนแรงให้ลูกเห็น
                    - ปัญหาในครอบครัว ทะเลาะกันให้ลูกเห็น
                    - พ่อแม่มีความเครียด วิตกกังวล ซึ่งส่งผลต่อการดูแลลูก

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้อิจฉากัน          
          • เตรียมพี่ให้มีความรู้สึกที่ดีในการจะมีน้อง
                    – ชี้ให้พี่เห็นความน่ารักของเด็กเล็ก ๆ
                    – ระหว่างแม่ท้องควรบอกเด็กว่าแม่กำลังจะมีน้องให้เขาแล้ว
                    – พูดให้เห็นประโยชน์ของการมีน้อง

          • ไม่เอาน้องมาขู่เด็กให้ประพฤติดี อย่าทำให้มีมีทัศนคติที่ไม่ดีกับน้อง
                    - “จะรักน้องมากกว่า ถ้าพี่ทำตัวไม่ดี”
                    - “ถ้าดื้อมากจะไม่มีใครรัก จะเป็นหมาหัวเน่า เขาจะรักน้องกันหมด”

          • หลังคลอดควรให้เด็กมีความรู้สึกเป็นเจ้าของน้องด้วย
                    – ให้มาเยี่ยมแม่และน้อง
                    – ให้พี่มีโอกาสช่วยดูแลน้องบ้าง

          • ให้บทบาทกับพี่ : รู้สึกถึงความสำคัญของตนเอง
                    – ภูมิใจในความเป็นพี่
                    – ให้คำชมเชยกับพี่ที่ช่วยดูแลน้อง

          • ให้ความสนใจเอาใจใส่พี่เท่าเดิม
                    – ให้ความสนใจกับพี่ควบคู่กับการให้ความสนใจน้อง
                    – ไม่ควรทุ่มเทเวลาเอาใจใส่แต่น้องคนเดียว

          • ไม่พูดเปรียบเทียบคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง
          • อย่าเน้นปมเด่นลูกคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ
          • พ่อแม่ต้องมีความรักเด็กเท่ากันอย่างจริงใจ

บรรณานุกรม
1.Sibling Rivalry from http://en.wikipedia.org/wiki/Sibling_rivalry.
2.นงพงา ลิ้มสุวรรณ (2542). เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข. กรุงเทพฯ : บริษัท เมดอินโฟ จี.ดี. จำกัด. 2542.

 

.................................................................

  View : 19.17K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,072
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,739
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 44,456
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 837,107
  Your IP : 3.135.202.38