ผลกระทบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้หมู่บ้านติดชายทะเลฝั่งอันดามันใน 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ได้รับความเสียหายอย่างหนักทั้งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจและอารมณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น แม้ว่า จะมีองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากมายเข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่เด็กผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มที่บอบบางและช่วยเหลือตนเองได้น้อย ประกอบกับการที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่น่ากลัวอย่างรุนแรงและรวดเร็วนั้นอาจส่งผลต่อพฤติกรรมทางอารมณ์และจิตใจในระยะยาวได้
สถาบันราชานุกูล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก จึงได้จัดทำหลักสูตรการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยกิจกรรมกิน เล่น เต้น วาด สำหรับครูโรงเรียนอนุบาล และครูพี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการสร้างความรู้และทักษะของครูอนุบาล และครูพี่เลี้ยงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งในด้านเชาวน์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ โดยได้นำแนวความคิดเกี่ยวกับการทำงานของสมอง พัฒนาการ และการเรียนรู้พื้นฐานในเด็กปฐมวัย รวมถึงรูปแบบ วิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ภายใต้โครงการติดตามและฟื้นฟูด้านอารมณ์ในเด็ก 0-7 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ และการสนับสนุนงบประมาณจาก Bernard van Leer Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์
คณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคู่มือเล่มนี้จะเป็นแหล่งความรู้แหล่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานดูแลเด็กและครอบครัว รวมทั้งช่วยเสริมสร้างให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น
คณะทำงาน