ปัญหาสุขภาพจิตพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
           ในปัจจุบันพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่เรียกว่า “ซิงเกิลแด๊ด” หรือ “ซิงเกิลมัม” มีปริมาณมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งอาจมีภาวะเครียด กังวลใจ จนต้องไปปรึกษาจิตแพทย์

            พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คำจริง ๆ คือ “ซิงเกิลแพเร้นท์” คือ การเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว หมายความว่า ชีวิตสมรสยุติลง พ่อหรือแม่ทำหน้าที่เป็นคนเลี้ยงดูลูกตามลำพัง เนื่องจากเมื่อก่อนทุกคนมีความรู้สึกว่าแม่น่าจะทำหน้าที่ดูแลลูกต่อ ดังนั้นเราจึงมี “ซิงเกิลมัม” ตามมาเนื่องจากเมื่อก่อนส่วนใหญ่แม่เป็นคนเลี้ยงลูกหลังแยกทางกัน แต่เดี๋ยวนี้เราจะได้ยิน “ซิงเกิลแด๊ด” มากขึ้น

              ปัญหาสุขภาพจิตในพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะเกิด 3 ช่วง คือ ก่อนการหย่าร้างทุกคนมีครอบครัวก็อยากให้ชีวิตครอบครัวดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่พอไปถึงจุดหนึ่งก็ต้องตัดสินใจว่าจะเดินต่อไปหรือจะยุติความเป็นครอบครัวก็มีความตึงเครียดก่อนเข้าสู่การหย่าร้างกัน พอถึงช่วงกำลังจะหย่าก็มีความเครียด ว่าจะต้องไปจดทะเบียนหย่า แบ่งสินสมรสอย่างไร เลิกกันแล้วต้องแยกบ้านกันอย่างไร ลูกควรอยู่กับใคร เมื่อทุกอย่างลงตัวแยกทางกันเรียบร้อยต่างคนต่างเดินบนเส้นทางชีวิตใหม่ของตัวเอง จากเดิมมีชีวิตครอบครัว คนหนึ่งต้องทำหน้าที่เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว อีกคนก็แยกตัวออก ไป ถ้าการแยกทางกันไม่ค่อยดีนัก มีปัญหาเยอะ ทะเลาะกันมาก ต่อสู้กันมาก ระยะเวลาการปรับตัวหลังเลิกใช้ชีวิตคู่ก็ใช้เวลานาน แต่ถ้ามีการคุยกันมาก่อนแยกทาง ไม่ทำร้ายกันมาก หลังการแยกทาง ต่างคนก็ต่างไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ปรับตัวใหม่ จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีก็รู้แล้วว่าจะเดินต่อไปอย่างไรกับชีวิตใหม่

            ประเด็นหลักที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมาปรึกษาจิตแพทย์คือความกังวลใจ ว่า การแยกทางกันจะส่งผลกระทบอะไรกับลูกหรือไม่ และจะต้องเลี้ยงดู หรือปฏิบัติตัวอย่างไรให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันลูกอาจมีปฏิกิริยาบางอย่างอันเป็นผลมาจากการแยกทางกันของพ่อแม่ พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจมีคำถามว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อลูก วันพ่อ หรือ วันแม่ที่โรงเรียน คนที่เป็นซิงเกิลมัมควรจะดูแลลูกอย่างไร ถ้าต้องไปร่วมงานวันพ่อ หรือถ้าเป็นซิงเกิลแด๊ดจะต้องทำอย่างไร มันจะมีผล กระทบบางอย่างเข้ามาซึ่งมีผลต่อลูก ตรงนี้เป็นประเด็นหลักที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องการความมั่นใจที่จะดูแลลูกต่อไป ถ้าการแยกทางกันไม่ค่อยดีนักอาจจะมีความตึงเครียดอย่างอื่นตามมา ความจริงแม้จะแยกทางกันแต่อีกฝ่ายควรเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก ไม่ใช่แยกทางกันแล้วต้องทำร้ายกันต่อ ไม่ควรให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ

          อยากฝากว่า สิ่งที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุด สำหรับคนที่เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว คือ ความมั่นคงของเรา เพราะเด็กจะมั่นคงตามพ่อแม่ ถ้าพ่อหรือแม่มั่นคง ไม่รู้สึกแย่ ไม่ดูถูกตัวเอง ไม่ปล่อยให้ตัวเองซึมศร้าหรือหมดหวังกับชีวิตที่ต้องแยกทางกัน ก็สามารถดูแลลูกตามลำพังได้ ดังนั้นอยากให้มีความมั่นคง ยอมรับสถาน การณ์ชีวิตคู่ มองไปข้างหน้าระหว่างเรากับลูกว่าต้องวางแผนชีวิตอย่างไร ปรับตัวเองให้เป็นทั้งพ่อและแม่อย่างไร รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของพ่อและแม่ดูแลลูกร่วมกัน เด็กก็จะมีความสุขและเติบโตตามปกติ

          ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ. สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในสังคมไทยและสังคมทั่วโลก ในประเทศไทยอาจจะยังไม่มีฐานข้อมูลชัดเจน แต่ในอดีตเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว พบว่าการจดทะเบียนสมรสทุก 5 คู่จะมีคนมาหย่าร้างกัน 1 คู่ แต่ปัจจุบันพบว่าอัตราการหย่าร้างอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ในหลายพื้นที่สะท้อนให้เห็นว่าความไม่ลงตัวในชีวิตคู่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้น แต่ก็มีเด็กเป็นจำนวนมากที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้สมรสกัน คือ เกิดจากพ่อแม่วัยใสที่ไม่มีความพร้อมในการใช้ชีวิตคู่

          นอกจากนี้ความไม่สมหวังต่อตัวลูกก็กลายเป็นชนวนของการหย่าร้างได้ เด็กบางคนเกิดมาไม่ได้พิการหรือบกพร่องแต่มีเพศที่ไม่ตรงกับที่พ่อแม่ต้องการ ทำให้เกิดความร้าวฉานหรือขัดแย้งกันได้ นำไปสู่ความบานปลายเลิกกันได้ ถ้าเด็กเกิดมาบนความรัก และความคาดหวังของพ่อแม่ แต่เด็กบกพร่อง พิการ การดูแลที่ยากเกินไป เกินกว่าที่พ่อแม่จะเตรียมตัวเตรียมใจได้ เราพบว่า เด็กที่พิการทางสติปัญญาและร่างกายพิการ มีแนวโน้มที่พ่อแม่จะเกิดความเครียด ความขัดแย้งและวิ่งหนีความเครียด และปล่อยให้อีกคนหนึ่งเลี้ยงดูลูกตามลำพัง กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้พ่อแม่เด็กแยกทางกันได้ง่ายขึ้น

         ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความรู้สึกหวาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นกับอนาคตที่จะก้าวเดินต่อไป เช่น เงินที่ต้องนำมาเลี้ยงดูบุตร การบริหารจัดการเวลาในการดูแลบุตร ทำให้พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว เกิดความเครียด ซึมเศร้า เกิดสารพัดรูปแบบอารมณ์ด้านลบ รวมถึงบุตรที่เกิดมา ก็อาจจะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตในหลายด้าน เช่น อาจรู้สึกด้อยที่มีไม่เท่าเพื่อน ไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่เท่าที่ควร แต่เด็กเหล่านั้นสามารถผลักดันตัวเองจากจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งได้ ด้วยการให้ความรักที่เพียงพอและอยู่ในระบบการศึกษาที่ดีเขาจะมีโอกาสที่ดีในชีวิต การเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจะไม่มีปัญหา.


นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน


  View : 10.35K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สมาธิสั้น
04 เม.ย. 2556

 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.139.238.76