กรมสุขภาพจิต หวั่นคำพูดรุนแรงฮิตติดนิสัยคนรุ่นใหม่

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
         
         กรมสุขภาพจิตหวั่นคนรุ่นใหม่ติดนิสัยนิยมใช้คำพูดและการกระทำที่รุนแรง หลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง พบประชาชนเกินครึ่งสะใจคำพูดรุนแรง มองเป็นเรื่องธรรมดา
     นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่สำรวจภาวะสุขภาพจิตของประชาชนต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 17-19 ม.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 308 ราย ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทั้งผู้ที่เคยเข้าร่วมชุมนุมและไม่เคยเข้าร่วมชุมนุม พบว่าในภาพรวมประชาชนมีความเครียดมากถึงมากที่สุด 7.40% เครียดน้อย 78.60% โดยเฉพาะผู้ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุม ทั้งนี้ สาเหตุของความเครียดอันดับ 1 เป็นเรื่องของการเดินทาง รองลงมาคือ การรับข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ต มีผู้รับข่าวสารทางนี้สูงถึง 93.80% วิทยุ 71.80% และการได้รับฟังคำพูดที่รุนแรง ระยะเวลาในการรับข่าวสารไม่เกินวันละ 1 ชม. คิดเห็น 42.50% รับข่าวสาร 2-3 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็น 39%
     อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจในครั้งนี้คือ ความรู้สึกของประชาชนต่อการใช้คำพูดรุนแรงและมีเจตนาให้เกิดความเกลียดชัง พบว่าประชาชน 53.30% รู้สึกไม่ชอบ ฟังแล้วเครียด 25.30% มีความรู้สึกเฉยๆ และรู้สึกว่าสะใจดี ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อการใช้คำพูดรุนแรง พบว่าประชาชน 76.60% เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รองลงมา 59.10% เห็นว่าเป็นการใช้คำพูดหยาบคาย แม้จะเกลียดกันแต่ก็ไม่ควรพูดเช่นนั้น 57.50% เป็นเรื่องธรรมดาของการแสดงออกถึงความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม 51.30% เห็นว่าเป็นการนำไปสู่ความรุนแรงหรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้ และ 51% เห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของบุคคลในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนเป็นการกระตุ้นอารมณ์โกรธและปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกได้
     ทั้งนี้ การที่ประชาชนเกินครึ่งเห็นว่าการใช้คำพูดที่รุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาของการแสดงออกถึงความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะเป็นสัญญาณที่เริ่มบ่งบอกว่าสังคมไทยเริ่มคุ้นชินกับการใช้คำพูดที่รุนแรง ซึ่งมีแนวโน้มไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นได้ โดยเฉพาะบุคคล 3 กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือ คนพูด คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคนพูด และคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง อาทิ เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเกิดการเรียนรู้และเลียนแบบจากความคุ้นชินในการใช้คำพูดที่รุนแรง ซึ่งอาจขยายความเกลียดชังเป็นวงกว้าง และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะคุ้นชินต่อการใช้คำพูดรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เสี่ยงต่อการมีปัญหาทางอารมณ์และการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นในอนาคต ส่งผลให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เสี่ยงจะใช้พฤติกรรมรุนแรง ส่วนคนที่รับฟังมากเกินไปก็จะส่งผลให้เครียดและกังวลสูง
     "ขณะที่ในระดับสังคม การใช้คำพูดที่รุนแรงจะสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรู้สึกรุนแรง เกลียดชังฝ่ายที่คิดต่าง ส่งผลให้ความเอื้ออาทรต่อกันในสังคมอ่อนแอลง เกิดความเปราะบางในสังคม คนในสังคมมีความเครียดกังวล สังคมขาดความสุข ดังนั้นจึงควรมีสติ รับฟังข้อมูลอย่างไตร่ตรอง นึกถึงผลกระทบของการใช้คำพูดรุนแรง เพราะการให้ข้อมูลความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดที่รุนแรงสร้างความเกลียดชัง ซึ่งเมื่อใช้จะยิ่งไปกระตุ้นและยั่วยุให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว.

ไทยโพสต์ 


  View : 1.93K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.218.184.214