กรมสุขภาพจิต จับมือ เสถียรธรรมสถานฟื้นฟูจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 และประชาชนกลุ่มเสี่ยงสร้างต้นแบบพื้นที่กรุงเทพมหานคร

5 มิ.ย. 63     นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบหมายให้เเพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เป็นผู้แทนกรมสุขภาพจิต  กล่าวถึง  การดูแลสุขภาพจิตในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความเครียดกังวล การปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและข้อจำกัดในการทำงานและอาชีพ เกิดความไม่มั่นคงทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจหนักยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ถูกกักกันแยกโรค และผู้ติดเชื้ออยู่ในความเครียด ความหวาดกลัว สะสมกลายเป็นความท้อแท้ใจที่นำมาสู่ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้ 
     ส่วนผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งการป้องกันและการให้บริการผู้ติดเชื้อ  ความเสี่ยงที่เพิ่มเป็นเท่าทวีในฐานะด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดความเครียด  ความเหนื่อยล้าต่อบุคลากรมากยิ่งขึ้น 
    จากผลการสำรวจสุขภาพจิตในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ของกรมสุขภาพจิต โดยการสุ่มตัวอย่างผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศตามเขตสุขภาพ ครั้งที่ 1 (12-18 มีนาคม 2563) จำนวน 605 คน และครั้งที่ 2 จำนวน 578 คน (30 มีนาคม - 5 เมษายน 2563) พบว่า ในระยะเวลาสองสัปดาห์ผ่านไประดับความเครียดของบุคลากรเพิ่มขึ้น ความเครียดระดับปานกลางเพิ่มขึ้นจาก 24.0% เป็น 34.8% และความเครียดระดับมากและมากที่สุดเพิ่มขึ้นจาก 6.4% เป็น 7.9% ความเครียดและความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นพบได้ในทุกประเทศที่มีการระบาด และไม่ใช่ตัวบ่งบอกถึงความอ่อนแอหรือเป็นภาพสะท้อนว่าบุคลากรเหล่านั้นไม่สามารถทำงานได้ แต่ในช่วงเวลาคับขันเช่นนี้การบริหารจัดการความเครียดและเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเสริมสร้างความแข็งแรงทางร่างกาย
    ด้าน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการประสานความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตในการดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มเสี่ยง  ที่เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้นได้ทำการประเมิน จำนวน 142  คน พบว่ามีความเครียดมากจำนวน 2 คน เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า จำนวน 5 คน มีภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ จำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ 25.35  ด้วยเหตุนี้จึงได้ใช้มาตรการเชิงรุกโดยร่วมดำเนินตามแผนฟื้นฟูสุขภาพจิตฯอันได้แก่การจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพจิตและการคัดกรองสุขภาพจิตเชิงรุก 
เขตกรุงเทพมหานคร ร่วมรณรงค์และเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตรณรงค์คัดกรองสุขภาพจิตเชิงรุกประชาชน รวมถึงการติดตามเยี่ยมประเมินสุขภาพจิตและการดูแลเยียวยาจิตใจกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อและญาติและการบูรณาการพัฒนาสุขภาพจิตชุมชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19
    กรมสุขภาพจิตร่วมกับกรุงเทพมหานคร ได้พยายามค้นหาแนวทางการฟื้นฟูจิตใจให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้แหล่งทรัพยากรที่มีในพื้นที่ จึงดำเนินการร่วมกับเสถียรธรรมสถาน โดยท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ใช้แนวทางการเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจฯ ด้วยหลักสูตร “ศิลปะการใช้ชีวิตด้วยลมหายใจแห่งสติ” สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลังและความหวังที่จะฝ่าข้ามวิกฤตไปได้อย่างมีความสุข และพัฒนาเป็นหลักสูตรต้นแบบในการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไป  
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ได้กล่าวถึงการร่วมมือในครั้งนี้ว่า เราอยากให้ทางเสถียรธรรมสถานได้มีส่วนที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิด spiritual therapy แก่บุคลากรที่เสียสละทำงานเพื่อผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกก็ว่าได้ ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลด้านจิตใจด้วยการจัดโปรแกรมอบรมแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเครียดสะสมจากการทำงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดแนวคิดและหลักการในการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับตนเอง และเพื่อพัฒนาบุคลากรของกรมสุขภาพจิตให้เป็นผู้นำทางปัญญาในการพัฒนาชีวิตให้มีความสุขด้วยสติและสุข 3 ขั้น โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาต่อเนื่องเป็นหลักสูตรต้นแบบในการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีสำหรับประชาชนทั่วไปโดยไม่จำกัดศาสนาด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์ของเสถียรธรรมสถาน การอบรม“ศิลปะการใช้ชีวิตด้วยลมหายใจแห่งสติ” สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ครั้งนี้ใช้ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มาจากโรงพยาบาลต่างๆที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และหน่วยงานของกรมสุขภาพจิต รวมจำนวน 50 คน ส่วนประชาชนทั่วไป เสถียรธรรมสถานได้ร่วมให้การดูแลด้านจิตใจแก่ประชาชนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและต้องเข้ารับการกักตัว 14 วัน ในสถานกักตัวของรัฐ โดยเข้าร่วมกับทีมสหวิชาชีพกรมสุขภาพจิตในการให้การปรึกษา และเพิ่มช่องทาง Line@ d-Chat สำหรับประชาชนที่ประสบภาวะเครียด สามารถส่งข้อความทางไลน์เข้ามาเพื่อขอรับการปรึกษาจากจิตอาสาซึ่งมีประสบการณ์และทักษะในการให้การปรึกษาด้านจิตใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
   นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา ภายใต้แคมเปญ “ภูมิคุ้มใจ” ดำเนินงานโดยความสุขประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมผลิตหนังสือภาพเรื่อง “เรายังรักกันทุกวันจ้ะ” ส่งเป็นสื่อแทนความรัก แทนคำขอบคุณมอบให้บุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จำเป็นต้องมีการเว้นระยะห่าง ไม่อาจใกล้ชิดครอบครัวตามปกติได้  โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กๆ ซึ่งอาจยังไม่เข้าใจ หรือสับสนได้ว่า ทำไมถึงกอดหรือหอมแก้มเหมือนเดิมไม่ได้ การส่งกำลังใจจากคนในครอบครัว เพื่อนๆ คนในชุมชนและสังคมด้วยภาษารักรูปแบบต่างๆจะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นพลังใจ และเป็น “ภูมิคุ้มใจ” แก่บุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด - 19 อย่างเข้มแข็ง ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดและติดตามอ่านได้ที่ www.happyreading.in.th
 
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 เราได้ปิดเสถียรธรรมสถานเมื่อประมาณเดือนมีนาคม คุณแม่ได้ไปอยู่ที่หุบเขาโพธิสัตว์ 2 เดือน เราพบว่าเราพึ่งตัวเองได้ นอกจากนั้นเรายังเป็นหลุมหลบภัยที่มีชีวิตให้กับผู้อื่น เมื่อกลับมาแล้วคุณแม่จึงได้ประสานไปที่กรมสุขภาพจิต เพื่อเสนอตัวที่จะเยียวยาบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ซึ่งเป็นเหมือนขุนพลของเรา ในแบบ Spiritual Therapy คือการเยียวยาด้วยสติปัญญา ที่ไม่ใช่แค่คำปลอบโยน แต่เพื่อให้รู้แจ้ง เราขอเป็นหยดน้ำที่เยียวยาทุกคน
 
“การเยียวยาครั้งนี้เป็นการใช้ Mindfulness Hospital ภายในเสถียรธรรมสถานแห่งนี้  ออกแบบสภาพแวดล้อมโดยใช้อายตนะทั้งรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทำให้คนหนึ่งคนที่เหนื่อยล้าจากสถานการณ์ COVID-19 รู้สึกปลดปล่อยได้ ทำให้คนที่แบกของหนักมาด้วยความกลัว สามารถวางได้ ปล่อยได้ อยู่กับโลกที่ต้องขจัดความกลัว หยั่งรู้เท่าทันอวิชชา ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเปลี่ยนวิธีคิดนั่นเอง”
ในสถานการณ์ที่ทุกคนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จะขอฝากหลักคิดด้วยหัวใจโพธิสัตว์ให้กับทุกคน นั่นคือ 1. ยอมตนให้คนใช้ 2. ฝึกตนเพื่อใช้คน และ 3. ไม่รอให้ใครใช้ และพบกับความสุข 3 ขั้น อันได้แก่ 1. สุขง่ายๆ จากการใช้ให้น้อยลง 2. สุขเมื่อสร้าง (ไม่สุขเมื่อเสพ) และ 3. สุขเมื่อให้ รับใช้กันทางสติปัญญามากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ได้ทั้งนั้น ซึ่งคุณแม่เองก็ปฏิบัติตามหลักการนี้เช่นกัน
 
“สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกคลี่คลายมากขึ้นก็คือ ในเชิงการท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวในลักษณะ Spiritual Tourists เพิ่มขึ้น เพราะผู้คนทั่วโลกต่างโหยหาการบำบัดทางจิตใจ ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะต้องการสิ่งที่ดีต่อเขาในมิติด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น อาหารสุขภาพ การภาวนากับการท่องเที่ยว วัฒนธรรมสู่อารยธรรม มิตรภาพ เกื้อกูลดูแล เคารพในความแตกต่าง ฯลฯ และสิ่งเหล่านี้ก็คือเอกลักษณ์ที่ดีงามของประเทศไทยนั่นเอง”
สำหรับเสถียรธรรมสถาน วิกฤต COVID-19 เป็นเวทีของการนำธรรมะออกไปรับใช้ผู้คน การจัดฟื้นฟูจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ COVID-19 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการสู่การเป็นต้นแบบ โดยนำบุคลากรทางการแพทย์มาอบรม และนำความคิดเห็นทางด้านสาธารณสุขมาใช้ร่วมกับธรรมะเพื่อความถึงพร้อมในทุกมิติ มาถอดหลักสูตร และนำไปใช้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้าง เพื่อให้มีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น ฉะนั้น ใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร ที่ต้องแบกรับความเครียด ความวิตกกังวล เสถียรธรรมสถานพร้อมเป็นหลุมหลบภัยที่มีชีวิตให้กับท่านเสมอ
 
 
 
 

กรมสุขภาพจิต จับมือ เสถียรธรรมสถานฟื้นฟูจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 และประชาชนกลุ่มเสี่ยง.pdf
หลักสูตรศิลปะการใช้ชีวิตด้วยลมหายใจแห่งสติ.pdf
กำหนดการอบรมหลักสูตรศิลปะการใช้ชีวิตด้วยลมหายใจแห่งสติ 2563.pdf
กำหนดการงานแถลงข่าว5มิย63.pdf

  View : 2.30K

Tags: Mindfulness Hospital สถานการณ์ COVID-19 กรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตร่วมกับกรุงเทพมหานคร ภูมิคุ้มใจ Line@ d-Chat ศิลปะการใช้ชีวิตด้วยลมหายใจแห่งสติ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 273
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 6,940
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,657
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,308
  Your IP : 18.191.212.146