กรมสุขภาพจิตชวนคนไทยจัดการอารมณ์เครียด โดยใช้เทคนิค 3 ใจ

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี


          
       
กระทรวงสาธารณสุข จัดสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ 1-7 พฤศจิกายน 2557 ส่งเสริมคนไทยทุกกลุ่มวัยจัดการอารมณ์เครียด โดยใช้เทคนิค 3 ใจ
          คือ 1.สบายใจ 2.พอใจ และ3.ภูมิใจ คิดบวก ช่วยจิตใจเข้มแข็ง ดับร้อนอุณหภูมิใจ พร้อมทั้งเพิ่มบริการปรึกษาประชาชนในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ชี้สถานการณ์ความรุนแรงต่างๆในสังคมที่ปรากฏทางสื่อมวลชนปีนี้เกือบ 30,000 ครั้ง ล้วนเกี่ยวโยงอารมณ์ที่ขาดการจัดการอย่างถูกต้อง ขณะที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบประชาชนโทรปรึกษาสุขภาพจิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 ราย ความเครียด วิตกกังวล มากสุด
          วันนี้ (30 ตุลาคม 2557) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2557 จัดโดยกรมสุขภาพจิต ปีนี้เน้นหัวข้อ “ร่วมสร้างอารมณ์ดี ให้ทุกชีวีมีความสุข” เพื่อให้ความรู้ ส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกคน ทุกวัย มีสุขภาพจิตดี มีความคิดบวก สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างสมดุล เนื่องจากเหตุการณ์ของความรุนแรงหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ล้วนเกิดจากอารมณ์ทั้งสิ้น
          โดยมีผลการศึกษาทางการแพทย์ยืนยันตรงกันว่า ผู้ที่เกิดความเครียดทางจิตใจ จะปรากฏอาการออกมาทั้งในระยะเฉียบพลันคือหงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์ร้อน อาจก่อความรุนแรงได้ง่าย และหากสะสมทิ้งไว้นาน จะก่อให้เกิดโรคจิต และโรคทางกาย โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และที่ร้ายแรงที่สุดคือโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกในร่างกายทำงานผิดปกติ
          “จากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ข่าวความรุนแรงทางสังคมที่เกิดขึ้น จากสื่อสิ่งพิมพ์ จำนวน 48 ฉบับ สื่อโทรทัศน์ จำนวน 10 สถานี เว็บไซต์และสำนักข่าวออนไลน์ จำนวน 40 เว็บไซต์ ของกรมสุขภาพจิต พบว่าในปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึงร้อยละ 26 โดยมีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงทั้งทางสังคมและการเมือง ในชายแดนใต้ ต่อสตรีและเด็ก ในครอบครัวและความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่น รวม 29,238 ครั้ง ขณะที่ปี 2556 มีจำนวน 21,456 ครั้ง มากที่สุดคือความรุนแรงทางสังคมและการเมือง 10,246 ครั้ง รองลงมาคือความรุนแรงในชายแดนใต้ 7,843 ครั้ง ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก 5,064 ครั้ง ความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 4,737 ครั้ง และความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่น จำนวน 1,348 ครั้ง ความรุนแรงเหล่านี้ เป็นตัวสะท้อนถึงภาวะทางอารมณ์ของคนเรา ที่ขาดการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม ” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
 นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งส่งเสริมสุขภาพจิตประชาชนตลอดชีวิตทุกกลุ่มวัย เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ในปีนี้ได้เพิ่มบริการใหม่แก่สังคม โดยจัดบริการปรึกษาปัญหาด้านสังคมจิตวิทยาให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศด้วย และทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยซับ คลายความรุนแรงให้ประชาชนที่มีปัญหา
          หากประชาชนมีสุขภาพจิตดี หรือมีความคิดในทางบวก คิดสร้างสรรค์ มองโลกในแง่ดี ก็จะเป็นการป้องกันโรคทางสุขภาพจิต ลดความรุนแรงสังคม และลดการป่วยโรคทางกาย มีพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสมและทำให้ประชาชนมีอายุยืนยาวด้วย
          ทางด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการสร้างสรรค์อารมณ์ดี ให้มีความสุขนั้น มีเทคนิคง่ายๆ โดยยึดหลัก 3 ใจ เป็นแนวปฏิบัติ ประกอบด้วย 1.สบายใจ คือ การทำใจให้สบาย ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป รู้ทันสถานการณ์ที่มากระตุ้นอารมณ์ จัดการอารมณ์ให้เป็นและถูกวิธี ลดอารมณ์โกรธให้ได้ หลีกเลี่ยงความรู้สึกอคติ สร้างบรรยากาศความไว้วางใจและใช้อารมณ์ขันเพื่อสร้างความอบอุ่น
          2.พอใจ คือ รู้จักพอในสิ่งที่มีอยู่ ใช้ชีวิตเรียบง่าย จัดชีวิตให้ลงตัวสมดุลทั้งด้านสุขภาพ การงาน ครอบครัว และ 3.ภูมิใจ คือ ความภูมิใจในสิ่งที่ตนประสบผลสำเร็จ โดยสิ่งนั้นสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและผู้อื่น เช่น การได้รับการยอมรับ ทำในสิ่งที่รู้ว่าดีเป็นประโยชน์แก่สังคม ได้รู้จักให้ และช่วยเหลือผู้อื่น มีจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถปรับและรับสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ได้ ในปีนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดพิมพ์หนังสืออารมณ์ดีมีสุข แจกให้ประชาชนจำนวน 16,000 เล่มด้วย
  “ วิธีการจัดการผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียด อาจใช้เทคนิคง่ายๆ โดยการใช้อารมณ์ขัน จะช่วยลดความอคติ ช่วยสร้างบรรยากาศให้อบอุ่น โดยอารมณ์ขันจะทำให้คนเรามีความอดทน อดกลั้นสูงขึ้น จะไม่เกิดความรู้สึกเกลียดชัง ไม่เป็นมิตร หากประชาชนสนใจสามารถขอรับคำปรึกษาและเทคนิคการฝึกทักษะต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์อารมณ์ดี ที่หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต 31 แห่งทั่วประเทศ ” นายแพทย์เจษฎากล่าว
          นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้จัดบริการให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิต แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ทั้งในเรื่องปัญหาความรุนแรง สุรา/ยาเสพติด การตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมทั้งโรคเรื้อรังต่างๆ ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งพบว่า ในปี 2557 นี้ มีผู้โทรเข้ามาขอรับบริการปรึกษา จำนวน 47,797 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 ราย ปัญหาที่ประชาชนขอรับบริการปรึกษามากที่สุด ได้แก่ ปัญหาความเครียด/วิตกกังวล ร้อยละ 30 รองลงมา คือ โรคทางจิตเวช ร้อยละ 23 ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 7 ปัญหาพฤติกรรมและปัญหาความรักอย่างละร้อยละ 4
          สำหรับสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ วันที่ 1-7 พฤศจิกายน ปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 25 ภายใต้รณรงค์หัวข้อ “ร่วมสร้างอารมณ์ดี ให้ทุกชีวีมีความสุข” แบ่งการจัดกิจกรรม 2 ส่วน คือที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. จัด 1 วัน คือ วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ภายในงานกิจกรรมในงานจะมีนิทรรศการสร้างอารมณ์ที่ดี มีความสุขด้วย 3 ใจ การเสวนาเรื่อง จัดการอารมณ์อย่างไร...ให้ใจเป็นสุข โดยจิตแพทย์กรมสุขภาพจิต พร้อมการฝึกทักษะสร้างอารมณ์ดีในทุกกลุ่มวัย เช่น กิจกรรมการเล่นกับลูก สร้างความสุขให้วัยเด็ก กิจกรรมรักดีมีสุข การเรียนรู้และการรับมือกับความผิดหวังความรักในวัยรุ่น การสื่อสารอย่างไรลดความรุนแรง เป็นต้น และได้ให้โรงพยาบาลจิตเวช ศูนย์สุขภาพจิตรวม 31 แห่งทั่วประเทศ รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนตลอดช่วง1-7 พฤศจิกายน โดยมีบริการตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจสุขภาพจิต โดยเฉพาะการวัดระดับความเครียด วัดระดับความสุข นายแพทย์เจษฎา กล่าว
 
 

 


ไฟลแนบ.jpg

  View : 3.31K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 397
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 6,420
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,061
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,229
  Your IP : 17.241.227.181