การส่งเสริมพัฒนาการในเด็ก

    ผมเชื่อว่าหลังจากที่แต่งงาน คู่รักหลายคู่ก็คงเริ่มคิดวางแผนเรื่องการมีบุตร ว่าจะมีเมื่อไหร่อย่างไร รวมถึงเริ่มวางแผนเรื่องการเลี้ยงดูบุตรในอนาคตด้วย...มาถึงช่วงตั้งครรภ์ก็ต้องใส่ใจในเรื่องของอาหารและการดูแลสุขภาพของคุณแม่ เพื่อให้ลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์นั้นสมบูรณ์แข็งแรง ขณะเดียวกันพอเด็กเกิดออกมาแล้ว สมัยก่อนลำพังแค่ดูแลในเรื่องอาหารเด็กก็โตวันโตคืนอยู่ในอ้อมอกอันเป็นที่รักของพ่อแม่ แต่ ณ ปัจจุบันเห็นจะไม่เป็นดังก่อนแล้วล่ะครับ ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจ พ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้พ่อแม่ไม่มีเวลามากนัก เพราะฉะนั้นการดูแลที่ถูกต้องในระยะเวลาอันจำกัดเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน   

    แต่ก่อนที่ลูก ๆ ของเราจะเติบโตขึ้นมาได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไปมิได้เป็นประการแรกคือเรื่องของอาหาร ซึ่งอาหารธรรมชาติที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยเห็นจะหนีไม่พ้น “นมแม่” ครับ ซึ่งเรื่องนี้ “แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
  อนุกรรมการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย” อธิบายว่า “นมแม่เป็นอาหารที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อลูกน้อยของเรา ซึ่งมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ในนมแม่มีสารอาหารที่มีความสำคัญกับสมองและพัฒนาการของเด็ก ที่เคยได้ยินกันคือ DHA และ ARA รวมถึงสารอาหารที่จะช่วยให้สายตาเด็กดี เพราะถ้าเด็กสายตาดีเขาก็จะมีพัฒนาการในการมองเห็นที่ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีอยู่ในนมแม่ แต่ ณ ปัจจุบัน นมผงหลายยี่ห้อก็พยายามสร้างสังเคราะห์สารต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าไม่เหมือนกับสารธรรมชาติที่มีอยู่ในนมแม่ นอกจากนี้การให้นมแม่ยังเป็นวิธีการเลี้ยงดูที่ดีด้วย เพราะการที่เราโอบกอดลูกไว้ที่อก เด็กก็จะมีการสบตากับคุณ ขณะเดียวกันคุณแม่ก็มีการพูดคุย ร้องเพลง เล่านิทานให้กับเด็กไปด้วย เด็กจะสัมผัสได้ถึงความรักและความห่วงใยของคุณแม่ นอกจากนี้การโอบกอดลูบคลำตามตัวเด็กซึ่งเส้นประสาทที่ผิวหนังจะมีการเชื่อมต่อส่งสัญญาณไปที่สมองก็จะทำให้เส้นใยในสมองของเด็กมีการพัฒนาแตกแขนงได้เต็มที่อีกด้วย...ตรงกันข้ามถ้าเราให้เด็กกินนมจากขวด หรือการมีพี่เลี้ยงคอยดูแลและป้อนนมแทนคุณแม่ แบบนี้ทำให้คุณแม่ขาดโอกาสที่จะใกล้ชิดกับลูกและมีผลต่อพัฒนาการของลูกด้วย”

    นอกเหนือจากเรื่องของนมแล้ว สิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ดีสมวัยนั้น ยังมีอีกหลากหลายประการและหลายปัจจัยด้วยกันครับ ซึ่งเรื่องนี้ผู้จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคือ “นพ.สมัย ศิริทองถาวร ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่”
 


    “ปัจจุบันครอบครัวไทยมีลูกน้อยเทียบกับในอดีตที่มักมีบุตรครอบครัวละ 7-8 คน ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลหลาย ๆ ประการ ฉะนั้นการที่จะเลี้ยงให้เด็กเติบโตมาได้ พ่อแม่ต่างก็คาดหวังให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี เก่ง ฉลาด สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงดูแลคนที่อยู่รอบข้างได้ด้วย เมื่อก่อนเราคิดว่าถ้าพันธุกรรมเราดีลูกหลานที่เกิดมาก็จะดีไปด้วย แต่ต่อมาเราพบว่าไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด เช่น บางครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้มีการศึกษาสูง แต่เมื่อลูกได้รับการดูแลและส่งเสริมด้านการศึกษาที่ดี ก็พบว่าลูกมีการเรียนดี เรียนเก่ง และเรียนได้ชั้นสูง ๆ แสดงให้เห็นว่าการดูแลและส่งเสริมเรื่องพัฒนาการเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ระยะหลังมานี้การดูแลพัฒนาการเด็กจึงเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เนื่องจากในหลายประเทศมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถของเด็กและรายได้ประชาชาติ ซึ่งพบว่าทั้งสองเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กัน คือประเทศไหนที่ลูกหลานมีพัฒนาการดี มีไอคิวสูง ฉลาด และมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ปรากฏว่ารายได้ของประเทศนั้นก็สูงขึ้นตามไปด้วย”

     อันที่จริงเรื่องพัฒนาการนั้นมีมานานแล้วครับ เพียงแต่ในอดีตสิ่งแวดล้อมไม่เร่งรัดเท่าในปัจจุบัน ทำให้ผู้ปกครองมีเวลาดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด แต่ปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงเวลาส่วนตัวน้อยลง ผู้ปกครองจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้เวลาที่น้อยนิดนั้นมีค่าที่สุด ซึ่งคุณหมอสมัยบอกว่าพื้นฐานง่าย ๆ ของการส่งเสริมพัฒนาเด็กก็คือ ถ้าหากในครอบครัวมีแต่เรื่องเครียดและทะเลาะเบาะแว้งกัน แบบนี้คงไม่เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก นอกจากนี้ยังควรดูแลสุขภาพร่างกายทั่ว ๆ ไปร่วมด้วย เช่น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ รวมถึงการดูแลป้องกันโรคทางสุขภาพร่างกายอื่น ๆ ถ้าพ่อแม่ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เลย แล้วหวังว่าจะให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีก็คงเป็นไปไม่ได้ครับ

     พัฒนาการของเด็กจะเริ่มต้นจากศีรษะไปเท้า เริ่มตั้งแต่การสบตา การมอง การพูดคุย จนกระทั่งมาที่การใช้แขน ใช้มือจับสิ่งของ ต่อมาก็เรื่องฝึกการนั่ง–การยืน เป็นลำดับ ซึ่งเด็กจะสามารถควบคุมและพัฒนาในส่วนที่เป็นแกนกลางของร่างกายได้ก่อน และจึงไปพัฒนาในส่วนปลายของร่างกาย เช่น เด็กสามารถจะควบคุมแขนได้ก่อน แล้วจึงค่อยพัฒนาไปถึงการใช้นิ้วมือจับแตะสิ่งของ ซึ่งคุณพ่อคุณ
แม่ทุกคนควรจะทราบถึงลำดับการพัฒนาการเหล่านี้ของลูกเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้องด้วยครับ

คุณหมอสุธีรากล่าวเสริมว่า จริง ๆ เรื่องพัฒนาการหรือความฉลาดของเด็ก มาจากปัจจัย 3 ด้านด้วยกันคือ

1. พันธุกรรม 2. การเลี้ยงดู และ 3. การดูแลเรื่องอาหาร

   “สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน มีเวลาเล่นกับลูกน้อย ต้องพยายามใช้เวลาที่น้อยนิดนั้นให้คุ้มค่ามากที่สุด หรืออย่างเรื่องของอาหารซึ่งจะเป็นตัวช่วยบำรุงสมอง คุณพ่อคุณแม่ในปัจจุบันก็มีความรู้มากขึ้นว่าไม่ใช่เพียงแค่อาหารหลัก 5 หมู่เท่านั้น แต่เด็กควรจะได้รับธาตุเหล็กและไอโอดีนเสริมด้วย ซึ่งอาหารธรรมชาติที่เหมาะสมกับเด็กก็ดังที่กล่าวไปแล้วก็คือนมแม่ ที่มีการวิจัยพบว่าในนมแม่นั้นมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าเด็กควรได้รับนมแม่ไปนานแค่ไหน ตอบเลยว่าสามารถให้นมแม่ไปได้เรื่อย ๆ กระทั่งเด็กมีฟันแท้ขึ้น”

      ในสมัยก่อนช่วง 3-4 เดือนแรก ผู้ปกครองมักเริ่มให้กล้วยบด น้ำส้ม และข้าวบด เพราะหวังจะให้เด็กได้รับประทานอาหารที่หลากหลายเพื่อการเจริญเติบโต แต่ ณ ปัจจุบัน มีการวิจัยและค้นพบกันอย่างแน่ชัดแล้วว่าในช่วงวัย 3-4 เดือนแรกนั้น เยื่อบุลำไส้ของเด็กทารกยังพัฒนาไม่แข็งแรง ยังไม่เหมาะที่จะย่อยอาหารเหล่านั้น เด็กบางคนอาจไม่เป็นไร แต่ก็มีอีกหลายคนที่อาจมีปัญหา เช่น ท้องอืด แพ้อาหาร หรือบางคนเป็นหนัก ๆ ก็อาจย่อยไม่ได้เกิดกระเพาะอาหารหรือลำไส้ทะลุได้ เพราะฉะนั้นแนะนำว่าควรทานนมล้วน ๆ และที่ดีที่สุดคือนมแม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า ใน 6 เดือนแรกของชีวิต เด็กควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว
 

      ถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่คงมีคำถามในใจว่า แล้วจะทราบได้อย่างไรหรือสังเกตได้อย่างไรว่าลูกมีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่
? ข้อนี้คุณหมอสมัยให้คำแนะนำว่า “ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลให้ค้นหาความรู้มากมาย ทั้งจากอินเทอร์เน็ตและหนังสือคู่มือต่าง ๆ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะนำสิ่งที่เรียนรู้มาปรับใช้กับลูกได้ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ด้วยความเป็นห่วงข้อนี้ ทางสถาบันเด็กราชนครินทร์ จึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของเด็กไทย นำมาจัดทำเป็นเอกสาร เพื่อที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้นั่นเอง”

     ในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 6 เดือน ผู้ปกครองก็สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้แล้ว โดยใช้ของเล่นเป็นสื่อ เช่น ลูกฟุตบอลผ้าสักหลาด หรือลูกบอลผ้าอื่น ๆ ที่มีสีสดใส และมีความนุ่มนวลไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ซึ่งเด็กในวัยนี้สามารถจะมองทุกอย่างรอบตัวได้ 360 องศา ในขณะที่ฝึกเด็กก็อาจจะพูดคุยและสัมผัสเด็กไปด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ของเล่นที่มีเสียง ซึ่งนอกจากจะเรียกความสนใจจากเด็กได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้ปกครองสังเกตได้ว่าเด็กมีการได้ยินที่ปกติหรือไม่ ในขณะที่เด็กหันศีรษะตามเสียงก็ยังได้ฝึกกล้ามเนื้อต้นคอด้วย

    หรือในเด็กวัย 1-2 ขวบที่เริ่มใช้มือได้ ของเล่นเสริมพัฒนาการที่แนะนำก็คือ เราจะใช้ลูกบอลผ้าสักหลาดลูกเล็ก ๆ ใส่เข้าไปในหลอดยาง แล้วให้เด็กใช้แท่งไม้แยงให้ลูกบอลให้หลุดออกมา ซึ่งนอกจากจะช่วยฝึกกล้ามเนื้อแล้ว เด็กต้องมีความเข้าใจคำสั่งด้วย ลักษณะแบบนี้เราเรียกว่าการฝึกทักษะของการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง คือการใช้ทั้งสายตา ใช้มือ รวมถึงใช้ความคิดแยกแยะที่จะทำภารกิจให้สำเร็จ นับว่าเป็นกระบวนการที่ต้องใช้สมองค่อนข้างมาก

   วิธีการฝึกแบบนี้พอจะเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองทราบได้ว่า เมื่อเทียบกับเด็กอื่นแล้วลูกเรามีพัฒนาการช้าเกินไปหรือไม่ เพราะบางครั้งผู้ปกครองก็ไม่ทราบว่าการที่เด็กทำได้หรือไม่ได้นั้นมีความผิดปกติหรือไม่ และหากเด็กทำไม่ได้ ผู้ปกครองต้องเริ่มมองหาตัวช่วยต่าง ๆ ได้แล้ว

    เห็นไหมล่ะครับว่าการดูแลลูกน้อยอันเป็นที่รักของครอบครัวนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก และสำหรับท่านที่ต้องการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม สามารถ
ศึกษาข้อมูลเรื่องนมแม่เพิ่มเติมได้ที่ www.thaibreastfeeding.org    

         นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

 


  View : 5.74K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 44.204.217.37